Journal of Energy Research vol.7 no.1, 2010

Detail:

  1. บทคัดย่อการศึกษานี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจและทดลอง (survey and experimental research) เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงเรือนล้านนาทางด้านอุณหภาพ ให้มีความเหมาะสมกับสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ในสภาวะปัจจุบัน วัสดุท้องถิ่นสมัยใหม่ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นที่คัดเลือกมา 3 ชนิด ได้แก่ แผ่นซีเมนต์จากใยไมยราฟยักษ์ อิฐดินเบาลำปาง และอิฐขี้เถ้าลอยแม่เมาะ นำมาเปรียบเทียบกับไม้จริงหนาครึ่งนิ้ว ซึ่งเป็นวัสดุเดิมที่ใช้ประกอบเรือนล้านนา เพื่อปรับปรุงเรือนล้านนาให้มีสภาวะน่าสบายมากที่สุด
    กระบวนการในการวิจัยประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 การสำรวจเรือนล้านนาที่ยังมีการใช้งานในปัจจุบัน ขั้นตอนที่ 2 ศึกษารูปแบบการใช้งาน พื้นที่ใช้งานภายในเรือน วัสดุที่ใช้ประกอบเรือน และทำการเก็บข้อมูลอุณหภูมิอากาศ และความชื้นสัมพัทธ์ที่เกิดขึ้นภายในและภายนอกเรือน เรือนล้านนาที่ทำการศึกษามีทั้งหมด 5 เรือน ตั้งอยู่ที่ อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ขั้นตอนที่ 3 ดำเนินการสำรวจวัสดุท้องถิ่นสมัยใหม่ที่หาได้ง่ายในภาคเหนือ คือ แผ่นซีเมนต์จากใยไมยราฟยักษ์ อิฐดินเบาลำปาง และอิฐขี้เถ้าลอยแม่เมาะ มาทดสอบค่าสัมประสิทธิ์การส่งผ่านความร้อน (k) ในห้องทดลอง และขั้นตอนสุดท้าย คือการศึกษาเปรียบเทียบคุณสมบัติของวัสดุที่ส่งผลต่อสภาวะน่าสบายภายในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยกำหนดสภาวะน่าสบายอยู่ระหว่าง อุณหภูมิอากาศ 25.6 – 31.5 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์ 62.2 – 90 เปอร์เซ็นต์
    ผลจากการศึกษาพบว่า การระบายอากาศธรรมชาติ (natural ventilation) การรั่วซึมของผนัง (infiltration rate) ค่าการต้านทานความร้อนของวัสดุ และค่าการหน่วงเหนี่ยวความร้อน มีอิทธิพลต่อสภาวะน่าสบายที่เกิดขึ้นภายในเรือนล้านนา ผลจากการจำลองในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พบว่าเรือนล้านนาเดิม มีสภาวะน่าสบาย ตลอดทั้งปี ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยในช่วงฤดูฝนจะมีสภาวะน่าสบายมากที่สุด สภาวะที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ตลอดทั้งปีจะอยู่ในช่วงต่ำกว่าสภาวะน่าสบาย โดยเฉลี่ยประมาณ 53 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือได้ว่า เรือนล้านนายังมีคุณสมบัติทางด้านสภาวะน่าสบายเหมาะสมในระดับหนึ่ง จากการศึกษาวัสดุท้องถิ่นสมัยใหม่พบว่า แผ่นซีเมนต์จากใยไมยราฟยักษ์ มีคุณสมบัติทางด้านสภาวะน่าสบายใกล้เคียงกับไม้จริง หนาครึ่งนิ้ว และในส่วนอิฐดินเบาลำปาง และอิฐขี้เถ้าลอยแม่เมาะ กรณีไม่มีการระบายอากาศธรรมชาติ มีคุณสมบัติทางด้านสภาวะน่าสบายใกล้เคียงกัน โดยดีกว่าไม้จริงที่ใช้ประกอบเรือนล้านนา ประมาณ 20 – 30 เปอร์เซ็นต์ และแนวทางที่ใช้ในการปรับปรุงสภาวะน่าสบายของเรือนล้านนา แนวทางแรกคือ ปรับปรุงการระบายอากาศธรรมชาติเนื่องจากพื้นที่ศึกษามีภูมิอากาศที่หนาวเย็น โดยการลดการระบายอากาศธรรมชาติ จะทำให้สัดส่วนสภาวะน่าสบายมีมากกว่ากรณีที่มีการระบายอากาศธรรมชาติ และเลือกใช้วัสดุที่มีอัตราการรั่วซึมของผนังที่ต่ำ แนวทางต่อมาคือการเลือกใช้วัสดุที่เป็นฉนวน และมีค่าการหน่วงเหนี่ยวความร้อนที่เหมาะสม ซึ่งผนังอิฐขี้เถ้าลอยแม่เมาะจะเหมาะสมที่สุด รองลงมาคือ ผนังอิฐดินเบาลำปาง ผนังไม้จริง และผนังซีเมนต์จากใยไมยราฟยักษ์ ตามลำดับ
    คำสำคัญ : สภาวะน่าสบาย, เรือนล้านนา, วัสดุท้องถิ่นสมัยใหม่

  2. บทคัดย่อโดยทั่วไประบบปรับอากาศจำเป็นต้องใช้พลังงานในการลดความร้อนแฝง (ความชื้น) มากกว่าการลดความร้อนสัมผัส (อุณหภูมิ) ดังนั้นการลดความชื้นเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ เนื่องจากเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระการทำความเย็นของระบบปรับอากาศ งานวิจัยนี้ศึกษาการลดภาระการทำความเย็นของระบบปรับอากาศโดยการทดลองใช้สารดูดความชื้นสามชนิดได้แก่ ดรายแอค (dry act) และ อีโคดราย (eco dry) ซึ่งเป็นสารดูดความชื้นจากธรรมชาติ และ ซิลิกาเจล (silica gel) ซึ่งเป็นสารดูดความชื้นสังเคราะห์ การทดลองแบ่งเป็น 3 การทดลอง ได้แก่ 1) การทดสอบการดูดความชื้นของสารดูดความชื้นในแผ่นเบดที่มี รูปแบบ ขนาด และลักษณะการจัดวางของแผ่นเบดในกล่องทดสอบ 4 ขนาด ได้แก่ 35x40x40 ลบ.ซม. 35x40x40 ลบ.ซม. 50x40x40 ลบ.ซม. และ 40x60x40 ลบ.ซม. โดยใช้ความเร็วของอากาศผ่านแผ่นเบดมีค่าเริ่มต้นเฉลี่ยใกล้เคียงกันที่ 0.5 เมตร/วินาที 2) การทดสอบการคายความชื้นของสารดูดความชื้นชนิดต่าง ๆ โดยใช้พลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ในกล่องอบแห้ง และ 3) การนำผลจากการทดลองที่ 1 และ 2 มาทดสอบในห้องทดลองร่วมกับระบบปรับอากาศระหว่างมีการใช้และไม่มีการใช้สารดูดความชื้นเพื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้ไฟฟ้า ผลการทดลองที่ 1 พบว่า แผ่นเบดอีโคดรายขนาดแผ่น 20×30 ตร.ซม. ที่มีลักษณะการจัดวางของแผ่นเบดแบบตั้งฉากกับทิศทางการไหลของอากาศ มีประสิทธิภาพในการดูดความชื้นสูงสุด โดยสามารถดูดซับความชื้นได้ 7.09-10.34% ของน้ำหนักสารเริ่มต้น โดยมีผลต่างของมวลสาร 28.59-41.66 กรัม ในช่วงเวลา 10 นาทีแรกของการทดลอง พบว่า อุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นเฉลี่ย 1-1.5oC ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยลดลงสูงสุด 9-12% และความเร็วของอากาศเฉลี่ยลดลง 50% ผลการทดลองที่ 2 พบว่า แผ่นเบดซิลิกาเจลขนาดแผ่น 20×30 ตร.ซม. มีประสิทธิภาพในการคายความชื้นได้สูงสุด โดยสามารถคายความชื้น 5.71-7.45% ของน้ำหนักสารเริ่มต้น โดยมีอัตราการคายความชื้นสูงสุดในเวลา 12.00-15.00 น. ผลการทดลองที่ 3 พบว่า กรณีที่มีการใช้สารดูดความชื้นทั้งซิลิกาเจลและอีโคดรายร่วมกับระบบปรับอากาศ มีค่าปริมาณการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 10.605 กิโลวัตต์ชั่วโมง และ 11.183 กิโลวัตต์ชั่วโมง ส่วนกรณีที่ไม่มีการใช้สารดูดความชื้นร่วมกับระบบปรับอากาศมีค่าอยู่ที่ 11.770 กิโลวัตต์ชั่วโมง ผลการศึกษาแสดงว่า กรณีที่มีการใช้สารดูดความชื้นร่วมกับระบบปรับอากาศสามารถช่วยประหยัดพลังงานไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศลงได้ คิดเป็น 5-10% เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีที่ไม่มีการใช้สารดูดความชื้นร่วมกับระบบปรับอากาศคำสำคัญ : ภาระการทำความเย็น, สารดูดความชื้น, การดูดซับความชื้น, การคายความชื้น, ปริมาณการใช้ไฟฟ้า

  3. บทคัดย่อปัจจุบัน ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมนุษย์ การใช้แสงธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ จึงเป็นทางเลือกที่ช่วยในด้านการประหยัดพลังงาน โดยในงานวิจัยนี้ได้ศึกษาเกี่ยวกับท่อนำแสงแนวดิ่ง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีในการนำแสงธรรมชาติเข้ามาใช้ในอาคาร โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบ และขนาดของท่อนำแสงแนวดิ่งที่เหมาะสม และมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสนอแนะแนวทางในการออกแบบท่อนำแสงแนวดิ่งที่เหมาะสมสำหรับอาคารประเภทซุปเปอร์สโตร์
    งานวิจัยชิ้นนี้ได้ศึกษาตัวแปร 3 ประเภทคือ 1) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางซึ่งประกอบด้วยขนาด 0.30 เมตร 0.60 เมตร และ 0.90 เมตร 2) ค่าความยาวของท่อต่อขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง (aspect ratio) ซึ่งประกอบด้วยค่า 2, 4, 6, 8 และ 10 และ 3) ระยะความสูงจากระดับใช้งานถึงปลายท่อนำแสงแนวดิ่ง โดยเก็บข้อมูลในวันที่ 21 มิถุนายน 21 กันยายน และ 21 ธันวาคม ในช่วงเวลา 12.00 น. 14.00 น. และ 16.00 น. โดยใช้เครื่องมือวัดแสงลักซ์มิเตอร์ และ Heliodon และศึกษาในห้องกรณีศึกษาขนาด 16 x 16 เมตร ผ่านหุ่นจำลอง มาตราส่วน 1:20
    จากการศึกษาพบว่า คุณสมบัติของท่อนำแสงที่มีประสิทธิภาพคือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่มาก ค่า aspect ratio ต่ำ และระยะความสูงจากระดับใช้งานถึงปลายท่อนำแสงแนวดิ่งน้อย ซึ่งจะวัดระดับความส่องสว่างได้มากกว่า โดยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ 0.90 เมตร ที่ค่า aspect ratio = 2 และที่ระยะความสูงจากระดับใช้งานถึงปลายท่อนำแสงแนวดิ่งที่ 3 เมตร โดยที่แสงมีความเหมาะสมสำหรับใช้งานภายในช่วงเวลา 12.00 น. – 16.00 น. ที่ 66.66 – 88.88 % และจากการศึกษาตัวแปรทั้งหมด แสงสว่างมีขอบเขตพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเฉลี่ยที่เส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกินกว่า 6.00 เมตร โดยงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นข้อมูลพื้นฐานในการออกแบบท่อนำแสงแนวดิ่งที่เหมาะสมกับซุปเปอร์สโตร์ที่มีขนาดและความสูงฝ้าเพดานที่แตกต่างกันคำสำคัญ :

  4. บทคัดย่องานวิจัยนี้เป็นการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ (ระยะเวลาคืนทุน) ต่อการตัดสินใจเลือกใช้รถยนต์ นั่งส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 และ อี85 เป็นเชื้อเพลิง เปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี10 ออกเทน 91, 95 และน้ำมันเบนซีน ออกเทน 91, 95 สำหรับการขับขี่ในเขตกรุงเทพฯ การวิเคราะห์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 แบ่งออกเป็น 3 ขนาด คือ ขนาดเล็ก (1,500 cc.) มีระยะเวลาคืนทุนที่ 5.3 ปี 3.3 ปี 1.2 ปี และ 0.6 ปี ขนาดกลาง (1,800 cc.) มีระยะเวลาคืนทุนที่ 6.4 ปี 3.9 ปี 1.4 ปี และ 0.7 ปี และขนาดใหญ่ (2,400 cc.) มีระยะเวลาคืนทุนที่ 11.3 ปี 6.7 ปี 2.4 ปี และ 1.1 ปี สำหรับการวิเคราะห์รถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85 (Flex fuel vehicle, FFV) ขนาด 2,500 cc. มีระยะเวลาคืนทุนที่ 14 ปี 12 ปี 7 ปี และ 4 ปี ตามลำดับ สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมพบว่าทั้งรถยนต์ E20 และ E85 จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ต่ำกว่ารถยนต์เบนซินปกติช่วยลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน ในขณะที่การส่งเสริมการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี20 และ อี85 ของภาครัฐช่วยลดภาระการขาดดุลการค้าจากการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศได้อย่างมีนัยสำคัญคำสำคัญ : การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์, อี20, อี85, ระยะเวลาคืนทุน, Flex fuel vehicle (FFV), Global warming

  5. บทคัดย่อการศึกษานี้มุ่งเน้นการวิเคราะห์และนำเสนอภาพการใช้พลังงานในอนาคตของพื้นที่เขตกรุงเทพและปริมณฑล โดยใช้แบบจำลองบัญชีพลังงาน (Energy accounting model) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์บนพื้นฐานของภาพฉายกรณีปกติ (BAU) ผลการศึกษาชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการขยายตัวของการใช้พลังงานในแต่ละสาขาเศรษฐกิจตลอดจนแนวทางในการจัดการด้านการใช้พลังงานในเบื้องต้นในแต่ละสาขาเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพ จากผลการศึกษาพบว่าการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจจะส่งผลให้การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมและคมนาคมขนส่งชะลอตัวลง โดยในช่วง 1-2 ปีข้างหน้าการใช้พลังงานในภาคครัวเรือนจะมีบทบาทสำคัญต่อการขยายตัวของการใช้พลังงานในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในอีก 2-3 ปีข้างหน้าจะทำให้ภาคเศรษฐกิจที่เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีความต้องการพลังงานเพิ่มมากขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการใช้และการจัดหาพลังงานในระยะยาวคำสำคัญ : การพยากรณ์การใช้พลังงาน แบบจำลองบัญชีพลังงาน การใช้พลังงานในเขตเมือง ภาพเหตุการณ์กรณีปกติ

  6. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยที่ดำเนินการหาค่าประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักรในโรงงานมอเตอร์ที่ฝ่ายผลิตซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 แผนก ได้แก่ แผนกคอยล์ 1 แผนกคอยล์ 2 แผนกฝา-ฉีด แผนกเปลือก แผนกแกน-โรเตอร์ และแผนกประกอบ ซึ่งทุกแผนกรวมกันมี 17 สายการผลิต และมีเครื่องจักรรวมทั้งหมด 180 เครื่อง ทำการเก็บข้อมูลก่อนปรับปรุงเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม 2551 โดยจะมีหัวหน้าผู้รับผิดชอบของแต่ละแผนกให้พนักงานในแต่ละสายการผลิตกรอกข้อมูลการใช้งานของเครื่องจักร ผลผลิต แต่ละเครื่องเป็นรายวัน ซึ่งผู้วิจัยนำข้อมูลที่ได้มาดำเนินการหาค่าประสิทธิผลโดยรวมก่อนการปรับปรุงของแต่ละแผนกได้ดังนี้ แผนกคอยล์ 1 ได้ 79.70 % แผนกคอยล์ 2 ได้ 85.11% แผนกฝา-ฉีด ได้ 67.87 % แผนกเปลือก ได้ 88.62 % แผนกแกน-โรเตอร์ ได้ 66.10 % และแผนกประกอบได้ 64.33 % รวมทุกแผนกจะได้ 75.99 % เมื่อดำเนินการหาสาเหตุของการสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งหมดจากการใช้แผนผังพาเรโตเพื่อแสดงสาเหตุข้อบกพร่องและปริมาณความสูญเสียที่เกิดขึ้น แล้วดำเนินการใช้แผนผังก้างปลาเพื่อหาปัญหากับสาเหตุทั้งหมดที่เป็นไปได้ ซึ่งสามารถนำเสนอเป็นมาตรการปรับปรุงได้โดย การให้ความรู้และฝึกอบรมพนักงานบำรุงรักษากับพนักงานเดินเครื่องจักร การปรับปรุงแผนการบำรุงรักษาเชิงป้องกันใหม่ และการสร้างระบบควบคุมติดตามผลด้านการบำรุงรักษา เมื่อดำเนินการตามมาตรการปรับปรุงแล้วทำการเก็บข้อมูลหลังปรับปรุงเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนมีนาคม 2552 หลังจากนั้นดำเนินการหาค่าประสิทธิผลโดยรวมหลังการปรับปรุงของแต่ละแผนกได้ดังนี้ แผนกคอยล์ 1 ได้ 86.89 % แผนกคอยล์ 2 ได้ 93.33 % แผนกฝา-ฉีด ได้ 87.25 % แผนกเปลือก ได้ 95.38 % แผนกแกน-โรเตอร์ ได้ 85.51 % และแผนกประกอบได้ 86.70 % รวมทุกแผนกจะได้ 88.68 % ซึ่งสามารถเพิ่มค่าประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักรได้ 12.69 %

    คำสำคัญ :ค่าประสิทธิผลโดยรวมของเครื่องจักร

  7. AbstractGeneration system reliability can be measured through its reserve margin, which is generally defined based on either deterministic or probabilistic method. Thailand’s generation reserve margin has been planned based on deterministic method for several years, i.e. not less than 15% of peak demand. This paper attempts to relate reserve margin used in Thailand’s power development plan to the one based on probabilistic criteria. The developed algorithm has been tested with a modified Thailand’s generation system. Results obtained from both criteria are compared, the proposed algorithm may be used to review and adjust Thailand’s reserve margin criteria in the future.คำสำคัญ :Reliability index, Reserve margin

Volume : 7    Issue : 1    Year : 2010

in: Journal of Energy Research
total views : 14,728 views