วารสารวิจัยพลังงาน ปีที่8 ฉบับที่1, 2554

Detail:

  1. บทคัดย่อ

    งานวิจัยฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ เรื่อง การพัฒนาโคมไฟประหยัดพลังงานซึ่งใช้เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไปสำหรับอาคารสำนักงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพพลังงานและประสิทธิภาพแสงสว่างระหว่างเทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไป และเทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป โดยใช้วิธีการจำลองสภาพเสมือนจริงของการให้แสงสว่างในพื้นที่อาคารสำนักงานด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ DIALux 4.6 ในขั้นตอนการวิจัยได้จำลองห้องทำงาน ขนาด 27 ตารางเมตร จำนวนสองห้อง ห้องทำงานแรกใช้เทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป และห้องทำงานที่สองใช้เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไป โดยกำหนดให้ค่าเฉลี่ยของค่าการส่องสว่างที่ระนาบแนวนอนที่ระดับโต๊ะทำงานของทั้งสองห้องมีค่าเท่ากัน
    ผลการวิจัยพบว่า ค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างภายในของห้องทำงานที่ใช้เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไป มีค่า 7.11 วัตต์/ตารางเมตร ส่วนห้องทำงานที่ใช้เทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป มีค่า 13.33 วัตต์/ตารางเมตร โดยผลที่ได้นั้นมีค่าน้อยกว่าค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างภายในสำหรับอาคารสำนักงานที่มีค่า 14 วัตต์/ตารางเมตร ซึ่งกำหนดโดยร่างกฎกระทรวงฯ พ.ศ.2550 เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสองเทคนิคพบว่า ห้องทำงานที่ใช้เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไปมีค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างภายในที่น้อยกว่าห้องทำงานที่ใช้เทคนิคการให้แสงสว่างในพื้นที่ใช้งานในลักษณะทั่วไป 46.7% เมื่อนำเทคนิคนี้ไปประยุกต์ใช้งานในพื้นที่อาคารสำนักงานทั่วไปจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ใช้สำหรับระบบแสงสว่างลงได้ และสามารถนำไปใช้เป็นเกณฑ์ในการพัฒนาออกแบบอุปกรณ์ทางด้านการให้แสงสว่างต่อไปได้ในอนาคต
    คำสำคัญ : เทคนิคการให้แสงเฉพาะที่เพื่อเสริมการให้แสงในบริเวณทั่วไป, ค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างภายใน, อาคารสำนักงาน, ประสิทธิภาพพลังงาน, ประสิทธิภาพแสงสว่าง

  2. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) ศึกษาตัวแปรมวลสารผนังภายนอก (thermal mass) และทิศทางอาคาร (orientation) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการลดปริมาณการถ่ายเทความร้อน และสภาวะน่าสบายในอาคารพักอาศัยในภูมิอากาศร้อนชื้น การวิจัยทำการทดลอง ณ อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ตั้งอยู่ที่ละติจูด 6055N และลองติจูด100026E ทำการทดลองในเดือนเมษายน – กรกฎาคม พ.ศ.2553 โดยกำหนดค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนของมวลสารผนังภายนอกเป็นตัวแปรควบคุม ศึกษาประสิทธิภาพมวลสารผนังภายนอก 3 ชนิด คือ (1) ผนังมวลสารน้อยใช้วัสดุคอนกรีตมวลเบา (2) ผนังมวลสารปานกลางใช้วัสดุก่ออิฐมอญฉาบปูนครึ่งแผ่นติดฉนวนโฟมหนา 0.11 ซม. และ (3) ผนังมวลสารมากใช้วัสดุอิฐมอญฉาบปูนเต็มแผ่นติดฉนวนโฟมหนา 0.05 ซม. ในการศึกษาทำการก่อสร้างห้องทดลองอุณหภูมิระบบปิดขนาด 1.20X2.40X2.40 ม. จำนวน 3 ห้อง มาตราส่วน 1:1 เพื่อเก็บข้อมูลอุณหภูมิอากาศภายในและภายนอกตลอด 48 ชั่วโมง ทั้ง 8 ทิศ รูปแบบการทดลองทั้งหมด 24 กรณี โดยใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์บันทึกข้อมูลด้านอุณหภูมิ การวิเคราะห์ประสิทธิผลใช้กระบวนการพิจารณาจากผลต่างขององศาชั่วโมงของอุณหภูมิสะสม (degree hour) ฐาน 18oC
    ผลการวิจัยโดยการเปรียบเทียบตัวแปรมวลสารผนังภายนอกพบว่า ตลอด 24 ชั่วโมง และช่วงเวลากลางคืนผนังมวลสารน้อยมีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดอุณหภูมิอากาศและเกิดสภาวะน่าสบายสูงสุด แต่ในช่วงเวลากลางวันผนังมวลสารมากกลับมีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดอุณหภูมิอากาศและเกิดสภาวะน่าสบายมากที่สุด และเมื่อเปรียบเทียบอิทธิพลของทิศทางอาคารในช่วงเวลากลางวันพบว่าทิศตะวันตกเฉียงใต้รับอิทธิพลจากรังสีแสงอาทิตย์น้อยที่สุดส่งผลให้เพิ่มประสิทธิภาพมวลสารผนังภายนอกในการลดพฤติกรรมการถ่ายเทความร้อนและเกิดสภาวะน่าสบายสูงสุด
    คำสำคัญ :

  3. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแนวคิดการนำแสงธรรมชาติเข้ามาทดแทนแสงประดิษฐ์ในอาคารด้วยการนำแผงสะท้อนแสงเหนือระนาบทำงานภายในอาคาร( interior daylighting panels )มาใช้เสริมกับหิ้งสะท้อนแสง(lightshelves) เพื่อให้แสงจากช่องเปิดด้านข้าง ตกลงบนระนาบทำงานเพิ่มขึ้น และเสริมประสิทธิภาพการเพิ่มความส่องสว่างในอาคารของหิ้งสะท้อนแสง โดยการศึกษากำหนดขอบเขตเป็นอาคารสำนักงาน ที่ตั้งในเขตละติจูด 14 องศาเหนือ และมีช่วงเวลาใช้งาน 8.00 -16.00 น. ทำการศึกษาตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิภาพของแผงสะท้อนแสงเหนือระนาบทำงานทั้งตัวแปรกายภาพด้านรูปแบบ พื้นผิววัสดุ ระดับติดตั้ง และตัวแปรที่ช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพด้านรูปทรงของหิ้งสะท้อนแสงที่ช่องเปิดอาคาร รวมทั้งหมด 120 การทดลอง ประเมินผลโดยใช้หุ่นจำลองในการวัดค่าเดย์ไลท์ แฟคเตอร์(daylight factor) ที่เพิ่มขึ้นและระยะที่ความส่องสว่างผ่านเกณฑ์ 2 %DF จากช่องเปิดทิศเหนือ-ใต้ แล้วนำผลมาคำนวณกับข้อมูลปริมาณแสงกระจายจากท้องฟ้าเฉลี่ยรายชั่วโมงของทุกเดือน เพื่อหาความส่องสว่างจากแสงธรรมชาติที่ได้และแสงประดิษฐ์ที่ต้องการเพิ่มมาเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการประหยัดพลังงาน
    ผลการศึกษา พบว่าแผงสะท้อนแสงเหนือระนาบทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดทางด้านกายภาพ คือลักษณะโค้งระนาบนอน พื้นผิวมีการสะท้อนแสงลักษณะกระเจิงแสง (spread reflection) และติดตั้งที่ระดับความสูงประมาณ 2.75 เมตร มีประสิทธิภาพในการเพิ่มระยะจากช่องเปิดที่มีค่าความส่องสว่างเพียงพอจากกรณีปกติ( base case )ที่ใช้ หิ้งสะท้อนแสงแบบเรียบที่ช่องเปิดอย่างเดียวเพิ่มขึ้น 1.70 เมตร หรือ 42.50% ในทิศเหนือ และเพิ่มขึ้น 1.75 เมตร หรือ 53.85% ในทิศใต้ ประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้น 34.42 %ต่อปีในทิศเหนือและ 12.40 % ต่อปีในทิศใต้ นอกจากนี้ยังพบอีกว่าหากมีการใช้แผงสะท้อนแสงเหนือระนาบทำงานดังกล่าวนี้ร่วมกับหิ้งสะท้อนแสงโค้งจะสามารถเพิ่มระยะที่แสงสว่างเพียงพอได้อีก 10.53% ในทิศเหนือ และ 16.00%ในทิศใต้ อีกทั้งสามารถประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นได้อีก 17.68 %ต่อปีในทิศเหนือ และ14.13 % ต่อปีในทิศใต้อีกด้วย โดยข้อสรุปที่ได้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในอาคารที่มีการใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติผ่านช่องเปิดด้านข้างต่อไป
    คำสำคัญ : แผงสะท้อนแสงเหนือระนาบทำงาน ,หิ้งสะท้อนแสง

  4. บทคัดย่อ

    การใช้พืชพรรณปกคลุมอาคาร ทำให้เกิดภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิ (thermal comfort) แก่สภาพแวดล้อมทั้งภายใน และภายนอกอาคารจากการลดการถ่ายเทความร้อนเข้าสู่อาคาร โดยการป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ ดูดซับรังสีดวงอาทิตย์ส่วนหนึ่งเพื่อนำไปใช้ในการสังเคราะห์แสง (photosynthesis) และการคายน้ำ (evapo – transpiration) ทั้งยังลดการแผ่รังสีและการสะท้อนกลับสู่บรรยากาศภายนอก ลดอุณหภูมิโดยรอบอาคาร และอุณหภูมิภายในอาคาร ยิ่งมีความหนาแน่นของใบปกคลุมมากและจำนวนชั้นของใบมาก ก็ยิ่งมีสมรรถนะที่ดียิ่งขึ้น ทำให้เกิดการประหยัดพลังงานแก่อาคารอย่างมีประสิทธิภาพ
    งานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาการใช้พืชพรรณประกอบอาคารโดยมุ่งเน้นที่การใช้ไม้เลื้อยที่ใช้เป็นแผงกันแดดแนวตั้งให้แก่อาคารที่ใช้การระบายอากาศธรรมชาติ ซึ่งหันสู่ทิศตะวันตก โดยทำการทดสอบคุณสมบัติในการลดการถ่ายเทความร้อน สู่ภายในอาคารเปรียบเทียบกับอาคารที่ไม่ใช้แผงกันแดดไม้เลื้อย เพิ่มการระบายอากาศแบบธรรมชาติและแบบเครื่องกล เพื่อทดสอบสมรรถนะที่เพิ่มขึ้น
    ผลการทดลองพบว่าแผงกันแดดไม้เลื้อยมีสมรรถนะในการลดการถ่ายเทความร้อนจากอากาศภายนอกได้ดีที่สุด เมื่อมีกระแสลมแรงที่สุดจากการระบายอากาศตามธรรมชาติ สามารถ ลดอุณหภูมิได้มากที่สุด 9.93 องศาเซลเซียส เฉลี่ย 3.63 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับห้องธรรมดา ในช่วงเช้าถึงค่ำ 9.00-20.30 น. เมื่อกระแสลมอ่อน ในกรณีเปิดพัดลม 1 ตัว แผงกันแดดไม้เลื้อยสามารถลดอุณหภูมิจากห้องธรรมดามากที่สุด 6.72 องศาเซลเซียส เฉลี่ย 0.91 องศาเซลเซียส ในเวลากลางคืนห้องที่ใช้แผงกันแดดไม้เลื้อยมีอุณหภูมิสูงกว่าห้องธรรมดาและอากาศภายนอกในทุกกรณี ในช่วงที่เพิ่มการระบายอากาศแบบเครื่องกลด้วยพัดลม 2 ตัว สามารถทำให้มีความแตกต่างอุณหภูมิน้อยที่สุดที่เฉลี่ย 0.71 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับห้องธรรมดา และ 0.2 องศาเซลเซียส เมื่อเปรียบเทียบกับอากาศภายนอก ตามลำดับ นอกจากนี้การใช้แผงกันแดดไม้เลื้อยปกคลุมหน้าต่างมีสมรรถนะในการลดอุณหภูมิภายในห้องสูง เมื่ออากาศภายนอกอุณหภูมิสูงมาก เนื่องจากใบไม้รักษาอุณหภูมิผิวใบและหลังใบไว้ไม่เกิน 37 องศาเซลเซียส และต่ำกว่าอุณหภูมิอากาศเสมอ จากการทดลองทั้ง 4 กรณี แผงกันแดดไม้เลื้อยไม่สามารถทำให้อากาศภายในห้องอยู่ในภาวะน่าสบายทางอุณหภูมิได้ แต่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการลดอุณหภูมิของอากาศนำเข้าสู่ระบบปรับอากาศ เพื่อการประหยัดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    คำสำคัญ: การใช้พืชพรรณประกอบอาคาร ไม้เลื้อย แผงกันแดด การถ่ายเทความร้อน การประหยัดพลังงาน

  5. บทคัดย่อ

    การแปรเปลี่ยนพลังงานเป็นกำลังงานทางกลจำเป็นต้องอาศัยเครื่องยนต์ โดยปัจจุบันเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพและได้รับความนิยมอย่างกว้างขว้างได้แก่เครื่องยนต์ที่อาศัยการสันดาปภายใน จากการแปรเปลี่ยนพลังงานเคมีของเชื้อเพลิงปิโตรเลียม ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าเครื่องยนต์ที่อาศัยการสันดาปได้ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมมากมาย ในขณะเดียวกันเชื้อเพลิงก็มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งเป็นแรงขับดันในการคิดค้นต้นกำลังชนิดใหม่ที่อาศัยพลังงานจากแหล่งพลังงานที่ได้จากอนุพันธ์ทางพลังงานของดวงอาทิตย์ หนึ่งในแนวคิดการใช้พลังงานจากดวงอาทิตย์คือการแปรเปลี่ยนพลังงานโดยเครื่องยนต์ที่ใช้อากาศความดันสูงเป็นต้นกำลัง ซึ่งสามารถใช้ในระบบสำรองพลังงานและประยุกต์ใช้ในยานพาหนะส่วนบุคคลได้ โดยการบีบอัดอากาศให้มีความดันสูงและผ่านอากาศที่มีความดันสูง นี้สู่เครื่องยนต์ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์ขยายตัวแบบ 2 ขั้น คือขั้นสูงและขั้นต่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางอุณหพลศาสตร์ให้สูงขึ้น และกำลังงานทางกลที่มากกว่าการขยายตัวแบบ 1 ขั้น โดยอากาศความดันสูงจะผ่านขบวนการ Throttling โดย Pressure regulator .ให้อยู่ในระดับ 35-20 บรรยายกาศ ก่อนไหลเข้าสู่ระบบ ซึ่งประกอบไปด้วยอุปกรณ์ขยายตัว 2 ชุดเป็นแบบ Sliding vane จำนวน 5 ใบ และปริมาตรภายในสำหรับขั้นสูง12.5 ลูกบาศก์เซนติเมตร สำหรับขั้นต่ำ 60 ลูกบาศก์เซนติเมตร ขบวนการศึกษาประกอบด้วย 2 ส่วน คือการออกแบบอุปกรณ์ระบบและทำการทดลองกับเครื่องต้นแบบที่ได้สร้างขึ้น จากผลการทดลองอากาศความดัน 30 บรรยากาศ อุณหภูมิห้อง จ่ายให้กับเครื่องยนต์ จะได้กำลังสูงสุดรวมประมาณ 752 วัตต์ โดยอุปกรณ์ขยายตัวขั้นสูงจะได้กำลังงาน 252 วัตต์ ที่ความเร็วรอบ 1925 รอบต่อนาที ,แรงบิด 1.25 นิวตัน-เมตร สำหรับอุปกรณ์ขยายตัวขั้นต่ำ จะได้กำลังงาน 500 วัตต์ที่ความเร็วรอบ 1475 รอบต่อนาที แรงบิด 3.24 นิวตัน-เมตร จากผลการทดลองประสิทธิภาพทางกลของระบบโดยรวมสำหรับเครื่องยนต์ต้นแบบยังคงมีค่าต่ำมากเมื่อเทียบกับทางทฏษฏี
    คำสำคัญ : อุปกรณ์ขยายตัวขั้นสูง, อุปกรณ์ขยายตัวขั้นต่ำ, อากาศอัด,เครื่องยนต์

  6. บทคัดย่อ

    โครงการวิจัยนี้เป็นการเปรียบเทียบสมรรถนะของระบบทำน้ำร้อนที่ใช้แผงรับแสงอาทิตย์แบบแผ่นเรียบขนาด 2 m2 กับ ถังเก็บน้ำร้อนขนาด 150 ลิตรและแบบฮีตไปป์ขนาด 1.2 m2 กับถังเก็บน้ำร้อน ขนาด 86 ลิตร ระบบประกอบด้วยแผงรับแสงอาทิตย์ ถังเก็บน้ำร้อน เครื่องสูบหมุนเวียนน้ำร้อน และเครื่องควบคุมการทำงานเครื่องสูบ ระบบทำน้ำร้อนติดตั้งไว้บนดาดฟ้าของอาคารในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโดยแผงรับแสงอาทิตย์วางหันหน้าไปทางทิศใต้ และวางทำมุมชัน 15 องศากับแนวระดับสำหรับแผงรับแสงอาทิตย์แบบแผ่นเรียบและ 35 องศาสำหรับแผงรับแสงอาทิตย์แบบท่อฮีทไปป์ พารามิเตอร์ที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ ความเข้มแสงอาทิตย์ อุณหภูมิน้ำในถังเก็บน้ำร้อน อุณหภูมิน้ำเข้าและออกจากแผง อุณหภูมิอากาศภายนอกและ ความเร็วลม ในการทดสอบจะเก็บข้อมูลทุกๆ 2 นาทีตั้งแต่เวลา 8.00-16.00 น. แล้วนำข้อมูลที่ได้มาคำนวณหาปริมาณความร้อนที่เก็บได้ในถังเก็บน้ำร้อนจาก และประสิทธิภาพของระบบทำน้ำร้อนจาก จากการทดลอง สรุปได้ว่าประสิทธิภาพของระบบทำน้ำร้อนขึ้นอยู่กับ ความเข้มแสงอาทิตย์ อุณหภูมิน้ำในถังเริ่มต้น อุณหภูมิอากาศแวดล้อม และปริมาณน้ำร้อนที่ใช้ เมื่อความเข้มแสงอาทิตย์เฉลี่ยอยู่ในช่วง 384- 602 W/m2และ อุณหภูมิน้ำเริ่มต้นเป็น 29 °C ประสิทธิภาพของระบบทำน้ำร้อนอยู่ในช่วง 39-43 % สำหรับแผงรับแสงอาทิตย์แบบแผ่นเรียบและน้ำร้อนซึ่งมีปริมาตร 150 ลิตรมีพลังงานสะสม 8.7-14.9 MJ/day และสามารถทำให้น้ำร้อนมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 53.1 °C เมื่ออุณหภูมิน้ำเข้าแผงรับแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 50.2 °C ประสิทธิภาพของระบบจะลดลงเป็น 31.5 % แต่ถ้ามีการใช้น้ำร้อนปริมาณ 50 % ในตอนบ่ายโมง ประสิทธิภาพของระบบจะเพิ่มขึ้นเป็น 57.3 % ในขณะที่ ประสิทธิภาพของระบบทำน้ำร้อนสำหรับแผงรับแสงอาทิตย์แบบท่อฮีตไปป์ จะอยู่ในช่วง 26-27 % และน้ำร้อนมีพลังงานสะสมอยู่ในช่วง 3.4-5.2 MJ/day สามารถทำให้น้ำร้อนมีอุณหภูมิสูงสุดที่ 43.5 °C เมื่ออุณหภูมิน้ำเข้าแผงรับแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 51 °C ประสิทธิภาพของระบบน้ำร้อนจะลดลงเป็น 19.6 % แต่ถ้ามีการใช้น้ำร้อนปริมาณ 50 %ในตอนบ่ายโมง ประสิทธิภาพของระบบจะเพิ่มขึ้นเป็น 37 % ที่มุมชันของแผงรับแสงอาทิตย์ 35 องศาให้ประสิทธิภาพสูงกว่าที่มุมชัน 55 องศา และ เมื่อใช้แผ่นสะท้อนแสงปิดที่ด้านหลังของแผงรับแสงอาทิตย์ประสิทธิภาพจะสูงกว่าที่ไม่ใช้แผ่นสะท้อนแสงประมาณ 12 % และอุณหภูมิน้ำร้อนสุดท้ายในถังเก็บจะเพิ่มขึ้น 3-5 °C ในระบบน้ำร้อนที่ใช้อุณหภูมิต่ำในงานวิจัยนี้ ประสิทธิภาพของระบบทำน้ำร้อนที่ใช้แผงรับแสงอาทิตย์แบบแผ่นเรียบจะสูงกว่าแบบท่อฮีตไปป์
    Keywords :Flat Plate, Heat Pipe, Solar Collector, Hot Water

  7. บทคัดย่อ

    การเปรียบเทียบการใช้พลังงานและสมรรถนะจากการเปลี่ยน recuperator ที่ใช้กับ reheating furnace การศึกษาเริ่มจากการวัดข้อมูลต่างๆ เพื่อคำนวณสมดุลพลังงานและสมดุลพลังงานของ recuperator และทำสมดุลพลังงานของ reheating furnace ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเหล็กเส้นสำหรับงานก่อสร้าง ในการทำงาน 3 ช่วงคือ ช่วงอุ่นเตา ช่วงก่อนเข้าการผลิต และช่วงการผลิตต่อเนื่อง พบว่า recuperator เดิมมีอากาศรั่วภายใน recuperator สูงถึงร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับอากาศที่เข้าเตาทั้งหมด ค่า effectiveness สูงขึ้นเล็กน้อย การถ่ายเทความร้อนลดลง ค่า overall heat transfer ลดลง การเปลี่ยน recuperator ทำให้อากาศเข้าเตามีอุณหภูมิสูงขึ้น 80.4 oC ในช่วงทำงานปกติ ส่งผลให้การเผาไหม้ภายในเตาดีขึ้นสามารถลดอากาศส่วนเกินลงได้ และลดปริมาณอากาศและปริมาณก๊าซที่ไหลผ่าน recuperator ทำให้มีการประหยัดพลังงานเฉลี่ยร้อยละ 19.8
    คำสำคัญ :recuperator, reheating furnace, energy saving, steel, effectiveness

  8. บทคัดย่อ

    ในปัจจุบัน การผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะกำลังประสบปัญหาการเกิดตะกรันขึ้นในผนังของหม้อไอน้ำของโรงไฟฟ้า ทำให้การถ่ายเทความร้อนระหว่างห้องเผาไหม้ไปยัง Water Tube ของหม้อไอน้ำประสิทธิภาพลดลงทำให้เกิดการสูญเสียกำลังการผลิตไฟฟ้า ซึ่งสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดตะกรันคือ ถ่านหินที่มีปริมาณร้อยละของ CaO อยู่ในช่วง 23-35% จึงได้ทำการทดลองโดยนำตัวอย่างถ่านหินจำนวน 3 ตัวอย่าง ที่มีค่า % CaO แตกต่างกันคือ ตัวอย่าง Q2 (2.24% CaO), ตัวอย่าง Q4 (27.34% CaO) และ ตัวอย่าง K3 (31.81% CaO) และตัวอย่างที่ผสมกันระหว่าง ตัวอย่าง Q2 กับ ตัวอย่าง Q4 โดยนำตัวอย่างทั้งสามมาหาค่าอุณหภูมิเริ่มต้นการหลอม (Initial Deforming Temperature: IT) พบว่าตัวอย่าง Q4 มีค่า IT ต่ำกว่าอุณหภูมิในเตาของหม้อไอน้ำ หลังจากนั้นนำตัวอย่างทั้งหมดมาเผาที่อุณหภูมิ 800 C – 1,200 C แล้วนำมาวิเคราะห์ด้วยวิธี X-Ray Diffraction (XRD) เพื่อหาชนิดของแร่ในแต่ละอุณหภูมิของตัวอย่างพบว่า แร่ในตัวอย่าง Q4 และแร่ในตัวอย่างถ่านหินผสมระหว่าง Q2 20% กับ Q4 80% ที่น่าจะเป็นสาเหตุให้มีค่า IT ต่ำคือ แร่เกห์เลไนต์
    คำสำคัญ :Slag, Blended Coal Ash, Ash Fusion, Ternary Phase Diagram

  9. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาโครงสร้างต้นทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก เพื่อดูทิศทางในการแข่งขัน และ เป็นแนวทางในการตัดสินใจในการลงทุนของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก โดยดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆดังนี้ คือ ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิที่ได้จากการค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลแหล่งผลิตไฟฟ้า พิจารณาคัดเลือกเกณฑ์ที่เหมาะสมเพื่อที่จะนำมาใช้ในการจัดกลุ่มกระบวนการผลิตไฟฟ้า คือ ระบบผลิตไฟฟ้า และ เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงจัดกลุ่มกระบวนการผลิตไฟฟ้า และคัดเลือกกลุ่มกระบวนการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กเพื่อนำมาเป็นกรณีศึกษาของงานวิจัยนี้ ซึ่งผลที่ได้จากการคัดเลือก คือ ศึกษาโรงไฟฟ้าพลังงานร่วม หรือ ระบบการผลิตพลังงานความร้อนและไฟฟ้าร่วมกัน ประเภทสัญญา Firm จากการศึกษาพบว่าเห็นควรให้มีการดำเนินนโยบายส่งเสริมผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กต่อไป เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กนี้เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐบาลในระบบการผลิต รวมถึงเป็นการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานในประเทศ และพลังงานนอกรูปแบบในการผลิตไฟฟ้าให้เกิดประโยชน์ และ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจในการลงทุนก่อตั้งโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กในอนาคตได้ อีกทั้งยังเป็นแนวคิดสำหรับการจัดทำเงื่อนไขในการลงทุนของกระบวนการผลิตไฟฟ้าอื่นๆต่อไปอีกด้วย
    คำสำคัญ:ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก, โรงไฟฟ้าพลังงานร่วม, สัญญาประเภท Firm

  10. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาดัชนีวัดผลการดำเนินงานหลักที่มีความเหมาะสมในทางปฏิบัติและสามารถสะท้อนถึงคุณภาพการให้บริการก๊าซธรรมชาติสำหรับงานค้าปลีกของบริษัทกรณีศึกษา รวมทั้งยังใช้ดัชนีในการกำกับดูแลและประเมินผลการดำเนินงานของบริษัทกรณีศึกษาอีกด้วย การวิจัยจึงเริ่มต้นจากการศึกษาและรวบรวมดัชนีวัดผลการดำเนินงานของบริษัทกรณีศึกษาและของต่างประเทศ และทำการจำแนกดัชนีที่ได้ออกเป็น 4 มุมมอง ตามแนวคิดของสหภาพยุโรป ได้แก่ คุณภาพ ความต่อเนื่อง ความเชื่อถือได้ และความพึงพอใจของลูกค้า พร้อมทั้งทำการเทียบเคียงดัชนีจนได้ดัชนีทั้งหมด 83 ตัว หลังจากนั้น จึงจัดทำแบบสอบถามเพื่อใช้ในการสอบถามความคิดเห็นจากคณะผู้บริหารของบริษัทกรณีศึกษาและใช้ในการคัดเลือกดัชนีในแต่ละมุมมองภายใต้เกณฑ์หลัก 2 เกณฑ์ คือ เกณฑ์ด้านความเหมาะสมกับองค์กร และเกณฑ์ความพร้อมของข้อมูล โดยมีการประยุกต์ใช้เทคนิคกระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์ในการจัดลำดับความสำคัญของมุมมองและเกณฑ์ที่ใช้ในการคัดเลือกดัชนี และประมวลผลโดยใช้โปรแกรม Super Decisions 2.0.8 จนกระทั่งได้ดัชนีที่ครอบคลุมมุมมองทั้ง 4 มุมมอง จำนวน 28 ตัว และนำดัชนีดังกล่าวไปสอบถามความคิดเห็นจากคณะผู้บริหารของบริษัทกรณีศึกษาและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ท้ายที่สุด จึงได้ดัชนีวัดผลการดำเนินงานหลักที่มีความเหมาะสมและได้รับความเห็นชอบจากทุกภาคส่วนจำนวน 10 ตัว
    คำสำคัญ:ดัชนีวัดผลการดำเนินงานหลัก คุณภาพการให้บริการ เทียบเคียง กระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์

Volume : 8    Issue : 1    Year : 2011

in: วารสารวิจัยพลังงาน
total views : 194,024 views