วารสารวิจัยพลังงาน ปีที่9 ฉบับที่2, 2555

Detail:

  1. บทคัดย่อ

    การประเมินขอบเขตพื้นที่หวงห้ามและพื้นที่ประชากรเบาบางรอบโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในสถานที่ตั้งที่คาดว่าจะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศไทยในอนาคต โดยอ้างอิงกฎเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการกำกับดูแลนิวเคลียร์แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S.NRC) ในการประเมินขอบเขตพื้นที่หวงห้าม (EAB) และพื้นที่ประชากรหนาแน่นน้อย (LPZ) จากการจำลองการแพร่กระจายโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Hotspot ที่ประยุกต์การใช้สมการเกาส์เซียนพลูมในการวิเคราะห์ผลกระทบต่อประชาชนด้วยปริมาณรังสีสมมูลย์ที่ร่างกายได้รับทั้งหมด (TEDE) ตามการออกแบบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุขั้นพื้นฐานกรณีสูญเสียน้ำระบายความร้อน (DBA LOCA) ที่ระยะ EAB และ LPZ ต้องไม่เกิน 25 เร็ม (0.25 ซีเวิร์ต) ภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมงและ 30 วันตลอดเวลาที่กลุ่มควันกัมมันตรังสีเคลื่อนตัวผ่านตามลำดับจากเครื่องปฏิกรณ์ที่ได้รับการรับรองจาก U.S.NRC ซึ่งใช้ข้อมูลที่ให้ผลร้ายแรงในการประเมิน ผลการศึกษาพบว่า ขอบเขต EAB สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ AP1000 และ US-APWR คือ 1,300 และ 850 เมตรตามลำดับเมื่อปริมาณรังสี TEDE มีค่าไม่เกิน 25 เร็ม ส่วนเครื่องปฏิกรณ์ U.S.EPR และ ESBWR มีค่า 910 และ 700 เมตรตามลำดับเมื่อปริมาณรังสี TEDE มีค่าเพียง 12 เร็มเท่านั้น โดยขอบเขต LPZ สำหรับเครื่องปฏิกรณ์ AP1000, US-APWR, U.S.EPR และ ESBWR มีค่า 2,200, 2,700, 3,200 และ 4,500 เมตรตามลำดับเมื่อปริมาณรังสี TEDE มีค่าไม่เกิน 25 เร็ม ดังนั้นพื้นที่ศึกษาสุราษฎร์ธานีผ่านเกณฑ์ของ U.S.NRC ในทุกด้านที่เกี่ยวกับการประเมิน EAB และ LPZ โดยไม่มีศูนย์กลางประชากรมากถึง 25,000 คนตลอดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากการคาดประมาณประชากรเป็นเวลา 60 ปีโดยเริ่มศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2554
    คำสืบค้น : พื้นที่หวงห้าม, พื้นที่ประชากรหนาแน่นน้อย, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

  2. บทคัดย่อ

    การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอปัจจัยโดยรวม ที่มีผลต่อทัศนคติและความพึงพอใจของกลุ่มผู้สนใจใช้รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด พร้อมทั้งศึกษาทัศนคติและความพึงพอใจของประชาชนที่มีต่อนโยบายของรัฐต่างๆที่สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดในปัจจุบัน และนำเสนอความต้องการของผู้สนใจในแง่ต่างๆ เพื่อช่วยปรับเปลี่ยนนโยบายของภาครัฐให้สอดคล้องกับการใช้งานจริง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทำวิจัยครั้งนี้ คือ ผู้ใช้งานจริงและผู้ที่มีความสนใจในรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด จำนวนทั้งสิ้น 400 ตัวอย่าง และคัดเลือกนำมาเฉพาะผู้สนใจ 382 ตัวอย่าง โดยสามารถสรุปผลการศึกษาออกเป็นส่วนๆคือ ลักษณะปัจจัยโดยรวมและพฤติกรรมที่มีผลต่อทัศนคติและความพึงพอใจ ลักษณะพฤติกรรมที่มีผลต่อทัศนคติและความพึงพอใจ ลักษณะปัจจัยด้านส่วนผสมทางการตลาด ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ปัจจัยความคิดเห็นด้านนโยบายที่มีผลต่อทัศนคติและความพึงพอใจ ปัญหาและข้อเสนอแนะที่เกี่ยวข้องกับทัศนคติและความพึงพอใจ จากการสำรวจและศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ที่ใช้รถยนต์หรือผู้ที่จะซื้อรถยนต์จะเริ่มต้นจากการพิจารณาความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์เป็นลำดับต้นๆ จากนั้นจึงพิจารณาเรื่องความปลอดภัยและการรับประกันจากบริษัทรถยนต์นั้นๆ แล้วจึงมองไปถึงเรื่องค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเชื้อเพลิงทั้งในปัจจุบันและอนาคต เรื่องบริการหลังการขายที่สามารถเข้ารับการบริการได้ง่าย ท้ายสุดคือเรื่องมาตรการการส่งเสริมการขายต่างๆ ปัจจัยเหล่านี้หากมีการพัฒนาและนำมาใช้อย่างเหมาะสมก็จะเป็นสิ่งที่จูงใจให้ผู้บริโภคหันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดมากขึ้น
    คำสืบค้น : รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด, ทัศนคติและความพึงพอใจ, หลักการตลาด, นโยบายพลังงาน

  3. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้ศึกษาสมรรถนะของระบบแผงผลิตไฟฟ้าและความร้อน ชนิดแผ่นเรียบแบบใช้น้ำถ่ายเทความร้อนที่มีขนาด 0.79 m2 ซึ่งต่อเข้ากับถังน้ำร้อนที่มีปริมาณน้ำ 120 ลิตร โดยทดสอบในกรณีหมุนเวียนน้ำด้วยปั๊มขนาดเล็ก และกรณีหมุนเวียนน้ำตามธรรมชาติ แผงผลิตไฟฟ้าและความร้อนติดตั้งบนดาดฟ้าของอาคารในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่อยู่ ณ ตำแหน่งละติจูด 13o 44’ 8” เหนือ ตัวแผงวางหันไปทางทิศใต้ ทำมุม 15 องศาในแนวระดับ ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ ความเข้มแสงอาทิตย์ อุณหภูมิน้ำเริ่มต้นในถังเก็บ อุณหภูมิน้ำเข้าแผง และอุณหภูมิอากาศภายนอก การเก็บข้อมูลจะเก็บในช่วงเวลาตั้งแต่ 8.00 – 16.00 น. ทุก ๆ 2 นาที แล้วนำข้อมูลที่ได้ ทำเป็นข้อมูลรายชั่วโมง และข้อมูลรายวัน จากนั้นนำข้อมูลรายวันมาคำนวณหาประสิทธิภาพทางความร้อน และประสิทธิภาพทางไฟฟ้า และจากการทดสอบได้สมการประสิทธิภาพทางความร้อนเป็น η_th= 0.25 -0.06 ((T_i-T_a))/H โดย T_i คืออุณหภูมิน้ำเริ่มต้นในถังเก็บน้ำร้อน (oC) T_a คืออุณหภูมิภายนอกเฉลี่ย (oC) และ H คือพลังงานแสงอาทิตย์เฉลี่ยที่แผงได้รับในช่วงเวลาหนึ่ง (MJ) ได้ประสิทธิภาพความร้อนสูงสุด 25 % ส่วนสมการประสิทธิภาพทางไฟฟ้าเป็น η_el= 0.03 – 0.01 ((T_i-T_a))/H และได้ประสิทธิภาพทางไฟฟ้าสูงสุด 3 % ดังนั้นประสิทธิภาพรวมสูงสุดของระบบเท่ากับ 28 % สำหรับพลังงานที่ได้จากระบบแผงผลิตไฟฟ้าและความร้อน โดยอาศัยข้อมูลความเข้มแสงอาทิตย์ และอุณหภูมิอากาศภายนอก ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 – พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 เป็นระยะเวลา 1 ปี พลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้าที่ได้ มีค่าเท่ากับ 1,023 MJ และ 127 MJ ตามลำดับ
    คำสืบค้น : สมรรถนะ, ประสิทธิภาพ, แผงพีวีที

  4. บทคัดย่อ

    บทความนี้เสนอผลการศึกษาการอุ่นเบ้ารับน้ำเหล็กขนาดเล็ก (Small ladle) ด้วยฮีตเตอร์ไฟฟ้า แทนการอุ่นด้วยหัวเผาที่ใช้น้ำมันดีเซล เบ้ารับน้ำเหล็กที่ใช้ในการศึกษามีขนาดความจุ 1 ตันน้ำเหล็ก หัวเผาที่ใช้ในการทดลองมีอัตราการใช้น้ำมันเท่ากับ 10 ลิตรต่อชั่วโมง ส่วนฮีตเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ในการศึกษาทำด้วยวัสดุนิกเกิลโครเมียมซึ่งสามารถใช้งานได้ดีในช่วงอุณหภูมิที่ต้องการ และให้กำลังไฟฟ้าเท่ากับ 30 kW จากผลการทดลอง ฮีตเตอร์ไฟฟ้าสามารถอุ่นเบ้ารับน้ำเหล็กได้ตามต้องการ ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในการอุ่นด้วยหัวเผาที่ใช้น้ำมันดีเซลและการอุ่นด้วยฮีตเตอร์ไฟฟ้าเท่ากับ 22% และ 39% ตามลำดับ นอกจากนี้ ในการอุ่นเบ้ารับน้ำเหล็กด้วยฮีตเตอร์ไฟฟ้าให้สภาพแวดล้อมที่สะอาดและอุณหภูมิต่ำกว่าในกรณีที่อุ่นด้วยหัวเผาที่ใช้น้ำมันดีเซล
    คำสืบค้น : การอนุรักษ์พลังงาน, การอุ่นเบ้ารับน้ำเหล็ก, ฮีตเตอร์ไฟฟ้า

  5. บทคัดย่อ

    ในปัจจุบันปัญหาวิกฤตทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาหลักที่ได้รับความสนใจจากทุกฝ่าย การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดปัญหาดังกล่าวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำความร้อนปล่อยทิ้งกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อาคารสำนักงานโดยทั่วไปแล้วจะมีการใช้เครื่องทำน้ำเย็นในการปรับอากาศ ส่งผลให้เกิดความร้อนปล่อยทิ้งซึ่งสามารถนำเอาความร้อนที่ได้กลับมาใช้ในการผลิตน้ำร้อน
    บทความวิจัยนี้เป็นการศึกษาถึงกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยการนำความร้อนปล่อยทิ้งจากระบบทำน้ำเย็นในระบบปรับอากาศร่วมกับการใช้ระบบฮีตปั๊มในการผลิตน้ำร้อน ด้วยวิธีการทดลองเก็บข้อมูลจากชุดทดลอง ในการทดลองนั้นได้ทำการควบคุมอัตราการไหลของน้ำที่ไหลเข้าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน เพื่อหาความสัมพันธ์ที่ส่งผลถึงปริมาณและอุณหภูมิของน้ำร้อนที่ผลิตได้ และศึกษาถึงพฤติกรรมการทำงานของระบบทำน้ำเย็นและฮีตปั๊ม เพื่อใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการออกแบบและปรับปรุงระบบจริง และลดปริมาณการใช้พลังงานในการผลิตน้ำร้อนต่อไป
    ผลจากการทดลอง เมื่ออัตราการไหลของน้ำที่ไหลเข้าเครื่องแลกเปลี่ยนความร้อนมีค่าลดลง อุณหภูมิน้ำร้อนและกำลังไฟฟ้าของเครื่องอัดไอในระบบฮีตปั๊มจะมีค่าเพิ่มขึ้น และในทางตรงกันข้าม เมื่ออัตราการไหลของน้ำมากขึ้น อุณหภูมิของน้ำร้อนและกำลังไฟฟ้าของเครื่องอัดไอในระบบฮีตปั๊มจะมีค่าลดลง ดังนั้นอุณหภูมิของน้ำร้อน จึงขึ้นอยู่กับอัตราการไหลของน้ำ และค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะของระบบฮีตปั๊มจะมีค่าเพิ่มขึ้นจาก 5.01 เป็น 6.39, 6.77, 7.21, 7.56 และ 7.66 คิดเป็น 27.5%, 35.1%, 43.9%, 50.9% และ 52.9% ที่อัตราการไหลของน้ำร้อนเท่ากับ 4, 6, 8, 10, 12 และ 15.5 ลิตรต่อนาทีตามลำดับ โดยที่ระบบทำความเย็นมีค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะเฉลี่ยอยู่ที่ 3.60
    คำสืบค้น : เครื่องทำน้ำเย็น, ความร้อนเหลือทิ้ง, น้ำร้อน, ฮีตปั๊ม

  6. บทคัดย่อ

    กระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชันของน้ำมันถั่วเหลืองกับเมทานอล โดยใช้สารประกอบผสมของโพแทสเซียมและซิงค์บนตัวรองรับเมโซพอรัสซิลิกาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาแบบวิวิธพันธ์ ซึ่งตัวเร่งปฏิกิริยาเตรียมโดยวิธีจุ่มชุ่มของสารละลายซิงค์ไนเตรทและสารละลายโพแทสเซียมไอโอไดด์ จากนั้นนำไปเผาที่อุณหภูมิ 450 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 6 ชั่วโมงและที่อุณหภูมิ 600 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมงสำหรับซิงค์และโพแทสเซียมตามลำดับ ตัวเร่งปฏิกิริยาที่ได้นำมาวิเคราะห์สมบัติทางกายภาพด้วยเทคนิคการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์ และการวิเคราะห์การดูดซับและการคายซับด้วยแก๊สไนโตรเจน จากนั้นศึกษาหาสภาวะที่เหมาะสมโดยการเปลี่ยนพารามิเตอร์ที่มีผลต่อการเกิดทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน คือ ปริมาณของซิงค์ ปริมาณของตัวเร่งปฏิกิริยา และเวลาในการเกิดปฏิกิริยา โดยพบว่าตัวเร่งปฏิกิริยาที่ใช้ซิงค์ 0.5เปอร์เซ็นต์ และโพแทสเซียม 15เปอร์เซ็นต์ มีประสิทธิภาพในการเร่งปฏิกิริยามากที่สุด คือมีการเปลี่ยนแปลงของไตรกลีเซอไรด์ไปเป็นเมทิลเอสเทอร์ถึง 96เปอร์เซ็นต์ โดยในการทำปฏิกิริยาทรานส์เอสเทอริฟิเคชันใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา 15เปอร์เซ็นต์ โดยน้ำหนัก และใช้เวลาในการเกิดปฏิกิริยา 10 ชั่วโมง
    คำสืบค้น : ไบโอดีเซล, ทรานส์เอสเทอริฟิเคชัน, ตัวเร่งปฏิกิริยาผสมโพแทสเซียม ซิงค์

Volume : 9    Issue : 2    Year : 2012

in: วารสารวิจัยพลังงาน
total views : 27,525 views