วารสารวิจัยพลังงาน ปีที่9 ฉบับที่1, 2555

Detail:

  1. บทคัดย่อ

    ไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตมนุษย์ เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้า ดังนั้นการวางแผนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจึงเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ก็อาจส่งผลให้เกิดการขาดแคลนกำลังการผลิตไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ บทความนี้ทำการศึกษาและเปรียบเทียบขั้นตอนการวางแผนพัฒนาระบบไฟฟ้าของประเทศไทยกับมลรัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการวางแผนของไทยขาดการประกาศขั้นตอนการจัดทำแผน รวมทั้งช่วงเวลาในแต่ละขั้นตอนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ระดับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจก็มีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นการประกาศขั้นตอนที่ชัดเจนผ่านช่องทางการสื่อสารที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย การระบุกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเพิ่มระดับการมีส่วนร่วมให้ประชาชนสามารถพิจารณาตัดสินใจทางเลือกรวมถึงระยะเวลาที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอนได้รับการนำเสนอในบทความนี้ ซึ่งหากนำไปใช้คาดว่าจะช่วยให้เกิดการยอมรับแผนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น
    คำสืบค้น : แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า, กระบวนการวางแผนความเชื่อถือได้แบบองค์รวม, นโยบายสาธารณะ, การมีส่วนร่วมของประชาชน, ระดับการมีส่วนร่วมของประชาชน

  2. บทคัดย่อ

    ปัจจุบันการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand side management, DSM) นั้นมีความสำคัญกับการวางแผนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าอย่างเห็นได้ชัด การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสมสามารถชะลอการเพิ่มของความต้องการใช้พลังงาน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าของประเทศ และช่วยลดระดับกำลังการผลิตติดตั้งที่ทำให้ระบบไฟฟ้าผ่านเกณฑ์ความเชื่อถือได้ อีกทั้งยังส่งผลทางอ้อมในการลดค่าใช้จ่ายในการผลิตไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจส่งผลต่อระดับเกณฑ์กำลังการผลิตสำรองของระบบไฟฟ้าที่ใช้ในการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan, PDP) เอกสารทางวิชาการฉบับนี้นำเสนอกระบวนการศึกษาผลกระทบของการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้าต่อกำลังการผลิตสำรองของไทย และตัวอย่างการประยุกต์ใช้การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้ากับการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำแผนการจักการด้านการใช้ไฟฟ้าสำหรับการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าต่อไป
    คำสืบค้น : การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า, การวางแผนพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้า, แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า, การประเมินความเชื่อถือได้

  3. บทคัดย่อ

    ปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมสูงมากขึ้นทุกปี ทำให้หลายองค์กรเริ่มตระหนักเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน จึงหาแนวทางที่จะใช้พลังงานที่มีอยู่ให้ได้ประโยชน์สูงสุด ตัวอย่างหนึ่งที่มีให้เห็นคือ มาตรการประหยัดพลังงานต่างๆได้ถูกนำมารณรงค์ใช้ในโรงงานหลายแห่ง รวมทั้งการส่งเสริมจากทางภาครัฐในหลายแนวทาง เพื่อที่จะสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในองค์กร ซึ่งการพิจารณาประสิทธิภาพการใช้พลังงานว่ามีความเหมาะสมคุ้มค่าหรือไม่สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้านั้น สามารถที่จะใช้ดัชนีตรวจติดตามค่าการใช้พลังงานต่อความสามารถเชิงปริมาณในการผลิตสินค้า คือ ค่าการใช้พลังงานจำเพาะ (Specific Energy Consumption : SEC) มาเป็นดัชนีติดตามประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตได้ บทความนี้จะนำเสนอแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตที่อ้างอิงค่าการใช้พลังงานจำเพาะโดยการปรับปรุงการบริหารจัดการงานบำรุงรักษาที่เหมาะสมและเพิ่มคุณค่าในหน้าที่งานบำรุงรักษาตามหลักวิศวกรรมคุณค่า นำเสนอมาตรการประหยัดพลังงานจากปัญหาหรือสภาพการณ์ของงานบำรุงรักษาที่ไม่เหมาะสมพร้อมทั้งประเมินผลการประหยัดพลังงาน แล้ววัดผลโดยตรวจติดตามตัวแปรในมิติด้านบำรุงรักษา ด้านการผลิต และด้านพลังงาน ที่สัมพันธ์กันเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินการ บทความนี้ใช้ข้อมูลงานบำรุงรักษาไฟฟ้าจากโรงงานประเภทปิโตรเคมีตัวอย่างมาเป็นกรณีศึกษา ผลจากการศึกษาพบว่าเมื่อปรับปรุงงานบำรุงรักษาจะได้ประโยชน์หลักคือการเพิ่มผลผลิตและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในกระบวนการผลิตได้ทางอ้อมจากศักยภาพของมาตรการประหยัดพลังงาน
    คำสืบค้น : การเพิ่มผลผลิต, การบำรุงรักษา, ค่าการใช้พลังงานจำเพาะ

  4. บทคัดย่อ

    การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแบบประเมินอาคารประหยัดพลังงานในอาคารพักอาศัยให้สามารถเข้าใจง่ายและเหมาะสมแก่เจ้าของอาคาร เพื่อส่งเสริมให้เจ้าของอาคารได้ตระหนักถึงการประหยัดพลังงาน แบบประเมินที่สร้างขึ้นนี้ได้ถูกพัฒนามาจากแบบประเมินของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน แบบประเมินใหม่นี้มีเนื้อหาประกอบไปด้วยหมวดต่างๆ 9 หมวด คือ หมวดสถานที่ตั้งอาคาร หมวดผังบริเวณและงานภูมิสถาปัตยกรรม หมวดระบบเปลือกอาคาร หมวดระบบปรับอากาศ หมวดระบบไฟฟ้าแสงสว่าง หมวดระบบธรรมชาติและพลังงานทดแทน หมวดระบบสุขาภิบาล หมวดวัสดุและการก่อสร้าง และหมวดเทคนิคการออกแบบและกลยุทธ์ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม การให้คะแนนแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนของการประหยัดพลังงานกับส่วนความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยอ้างอิงสัดส่วนการให้คะแนนตามแบบประเมินของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จากการทดสอบการประเมินเบื้องต้นโดยการนำไปประเมินจากรายงานของบ้านพักอาศัยที่เคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์พลังงานจำนวน 20 กรณีศึกษา พบว่า สามารถประเมินได้อย่างง่ายและรวดเร็ว เนื่องจากรายงานการประเมินของกรณีศึกษาได้ระบุรายละเอียดของอาคารไว้อย่างครอบคลุมและชัดเจน เมื่อนำแบบประเมินมาทดสอบกับเจ้าของอาคารจำนวณ 10 หลัง พบว่า ผู้ประเมินมีความเห็นว่าแบบประเมินสามารถใช้งานได้ง่าย แต่ยังมีบางหัวข้อที่ผู้ประเมินไม่เข้าใจศัพท์ทางเทคนิคและบางหัวข้อต้องมีการคำนวณ จึงได้ปรับปรุงแบบประเมินใหม่อีกครั้งโดยการเพิ่มคำอธิบายศัพท์ทางเทคนิค เพื่อให้มีความสะดวกและเหมาะสมแก่ผู้ใช้งาน
    คำสืบค้น : แบบประเมินอาคาร, การอนุรักษ์พลังงาน, อาคารพักอาศัย

  5. บทคัดย่อ

    บทความนี้นำเสนอการใช้ระเบียบวิธีไฟไนต์วอลุมเพื่อคำนวณการไหลแบบปั่นป่วนของเจ็ตแบบระนาบสองมิติในกระแสขวาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำลองรูปแบบการระบายอากาศทั้งการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบการไหลที่มีผลต่อพลังงานความร้อน การฟุ้งกระจายของฝุ่นหรือสสารจากเจ็ตแบบระนาบ ซึ่งสามารถพิจารณาในรูปสองมิติได้ โดยพิจารณาจากวิถีการเคลื่อนที่ของเจ็ต (Jet trajectory) และความเข้มข้นของปริมาณสเกลาร์ (Scalar concentration) ซึ่งใช้เป็นตัวแทนของความเข้มข้นโดยมวลหรืออุณหภูมิ โดยแบบจำลองความปั่นป่วนที่เลือกใช้คือ แบบจำลอง Standard k- และ Low-Reynolds number k- โดยมีพารามิเตอร์ที่พิจารณาคือ อัตราส่วนความเร็วของกระแสเจ็ตต่อกระแสขวาง (R) ทั้งในส่วนที่ค่า และค่า ผลลัพธ์ที่ได้จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ชี้ให้ เห็นว่า ค่า R ที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดการกระจายตัวที่เพิ่มขึ้นของปริมาณสเกลาร์ด้านหลังทางออกเจ็ต นอกจากนี้รัศมีความโค้งของวิถีการเคลื่อนที่ของเจ็ตและเส้นศูนย์กลางการเคลื่อนที่ของปริมาณสเกลาร์ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในกรณีที่ค่า ปริมาณสเกลาร์สามารถกระจายตัวได้กว้างตามขนาดการไหลวน แต่ปริมาณสเกลาร์ที่มีค่าสูงยังคงอยู่ใกล้กับปากทางออกของเจ็ต ในขณะที่กรณีค่า ปริมาณสเกลาร์ที่มีค่าสูงจะเคลื่อนที่ได้ไกลกว่าถึงแม้ว่าการกระจายตัวจะอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับผนังด้านล่าง ในส่วนของแบบจำลองความปั่นป่วนจะเห็นได้ว่าแบบจำลอง Low-Reynolds number k- สามารถทำนายขนาดการไหลวนและการเปลี่ยนแปลงบริเวณใกล้ผนังได้ดีกว่าแบบจำลอง Standard k-
    คำสืบค้น : เจ็ตในกระแสขวาง, การไหลแบบปั่นป่วน, แบบจำลอง Standard k-, แบบจำลอง Low-Reynolds number k-

  6. บทคัดย่อ

    ในปัจจุบันนี้ไม่ว่าเราจะหันไปในทิศทางใดก็ไม่สามารถที่จะปฎิเสธได้ว่าความต้องการทางด้านพลังงานมีเพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งหนึ่งในหลายๆพลังงานที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆนั่นก็คือพลังงานไฟฟ้า โดยพลังงานไฟฟ้านั้นเป็นที่ต้องการมากขึ้นทั้งในส่วนของภาคครัวเรือน ธุรกิจร้านค้ารายย่อย ตลอดจนถึงภาคอุตสาหกรรม ซึ่งบทความนี้เป็นการศึกษาและการประเมินถึงศักยภาพความเป็นไปได้ในด้านของการเพิ่มความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าภายในชุมชน โดยการนำขยะและเศษอินทรีย์สารจากตลาดและขยะภายในชุมชนมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพด้วยเทคโนโลยีการผลิตก๊าซชีวภาพแบบ Dry Fermentation จากนั้นจึงนำก๊าซชีวภาพที่ได้มาเข้าเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับชุมชนต่อไป โดยผลจากการศึกษาข้อมูลปริมาณขยะในส่วนที่สามารถนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพตลอดปี พศ. 2553 พบว่าอัตราเฉลี่ยปริมาณขยะภายในตลาดไท มีค่าเท่ากับ 94.19 ตันต่อวัน ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ที่ 17,807 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน โดยจะสามารถผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้อยู่ที่ 12,643 – 24,929 kWh หรือเท่ากับ 0.53 – 1.04 MW (จากการคิดค่าปริมาณก๊าซชีวภาพที่ 1 ลูกบาศก์เมตรต่อ ปริมาณกระแสไฟฟ้าที่ต่ำสุด 0.71 และสูงสุดที่ 1.4 kWh ) ซึ่งจากการคำนวณและประเมิณค่าใช้จ่ายและรายรับจากโครงการแล้วนั้นพบว่า รายจ่ายรวมต่อวันจะอยู่ที่ 12,119 บาท ในขณะที่รายได้ทั้งในส่วนการจำหน่ายไฟฟ้าและขายปุ๋ยที่ได้จากส่วนที่เหลือของกระบวนการการผลิตก๊าซชีวภาพหลังหักรายจ่ายในส่วนต่างๆทั้งหมดออกแล้วกรณีที่ไม่คิด Adder ค่าต่ำสุดจะอยู่ที่ 56,419 บาทต่อวัน และค่าสูงสุดจะอยู่ที่ 89,150 บาทต่อวัน และในกรณีที่คิด Adder ค่าต่ำสุดจะอยู่ 62108 บาทต่อวัน และค่าสูงสุดจะอยู่ที่ 100,369 บาทต่อวัน โดยมีค่า NPV ของโครงการค่าต่ำสุดจะอยู่ที่ 144,561,595 บาท และค่าสูงสุดจะอยู่ที่เท่ากับ 232,162,873 บาท และ IRR ต่ำสุดของโครงการจะเท่ากับร้อยละ 28.93 และสูงสุดที่เท่ากับร้อยละ 48.01
    คำสืบค้น :ตลาดไท, ก๊าซชีวภาพ, การผลิตกระแสไฟฟ้า, ขยะ, ประเมินศักยภาพ

Volume : 9    Issue : 1    Year : 2012

in: วารสารวิจัยพลังงาน
total views : 55,667 views