วารสารวิจัยพลังงาน ปีที่ 7 ฉบับที่ 2, 2553

Detail:

  1. บทคัดย่อ

    หลังยุคสงครามเย็นเป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ประเด็นเรื่องพลังงานจัดเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ซึ่งบั่นทอนความมั่นคงของรัฐทั่วโลก ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้ส่วนหนึ่งคือ จึงมุ่งเน้นไปที่การสร้างความร่วมมือทางพลังงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่ส่งออกพลังงานตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับประเทศไทยนั้น วิกฤตทางพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันหลายครั้งที่ผ่าน การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ผสานกับปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศ ได้ผลักดันให้ไทยจำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์เชิงความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบต่างๆ อันได้แก่ การซื้อขายพลังงาน และความร่วมมือแก้ไขข้อพิพาทแหล่งทรัพยากรทางพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้าน อันได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ และเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงทศวรรษที่ 1990- ค.ศ. 2006 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยและประเทศเพื่อนบ้านสามารถบรรลุข้อตกลงความร่วมมือทางพลังงานได้หลายกรณีซึ่งมีระดับความสำเร็จ มากน้อยต่างกันไป
    คำสำคัญ : นโยบาย/พลังงาน/ไทย/เพื่อนบ้าน

  2. บทคัดย่อ

    การศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์การออกแบบและพัฒนาระบบท่อนำแสงแนวนอนสำหรับอาคารประเภทสำนักงานโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและทิศทางการรับแสงธรรมชาติของระบบท่อนำแสงแนวนอนที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการนำพาแสงธรรมชาติและปริมาณแสงภายในอาคารประเภทสำนักงานของกรุงเทพมหานคร โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาองค์ความรู้สำหรับประยุกต์ต่อยอดในการพัฒนาเทคนิคการนำแสงธรรมชาติมาใช้งานในอาคารสำนักงาน งานวิจัยนี้ศึกษาผ่านการจำลองสภาพแสงธรรมชาติและระบบท่อนำแสงแนวนอนด้วยโปรแกรม Photopia 3.0 โดยมีแบบจำลองประสิทธิภาพทางด้านแสงสว่างจำนวน 5 รูปแบบที่มีลักษณะของส่วนรวมแสงและส่วนนำพาแสงแตกต่างกัน และจำลองภายใต้สภาพท้องฟ้าโปร่งที่มีรังสีตรงจากดวงอาทิตย์ที่กระทำมุมต่างๆ กับพื้นโลก
    ผลการศึกษา พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอน ได้แก่ 1) ทิศทางการรับแสงธรรมชาติ คือ ประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอนจะแปรผกผันตามขนาดมุมของแสงที่กระทำกับแนวท่อในส่วนนำพาแสง โดยมุมขนาดเล็กจะให้ประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอนสูง 2) ลักษณะของส่วนรวมแสง คือ ส่วนรวมแสงที่สามารถปรับทิศทางมุมแนวดิ่งและมุมแนวราบของแสงธรรมชาติในช่วงเวลาที่ต้องการให้ขนานกับท่อในส่วนนำพาแสงมากที่สุด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอน 3) ลักษณะของส่วนนำพาแสง คือ ส่วนนำพาแสงที่มีจำนวนการสะท้อนแสงภายในต่ำ (มุมตกกระทบของแสงมีขนาดใหญ่) ทำให้แสงถูกดูดกลืนน้อยส่งผลให้ประสิทธิภาพของระบบท่อนำแสงแนวนอนเพิ่มมากขึ้น
    คำสำคัญ : ท่อนำแสง, แสงธรรมชาติ, อาคารสำนักงาน

  3. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของระบบผนังกระจกสองชั้นแบบใช้การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ โดยใช้กล่องทดลองมีขนาด 1.3×2.5×3.0 ม. มีความกว้างของช่องลมเข้าและช่องลมออก 0.3 ม. และมีความกว้างของช่องอากาศ 0.3 ม. ทำการทดลองโดยใช้แสงจากหลอดฮาโลเจนขนาด 500 W จำนวน 8 หลอด แทนแสงอาทิตย์จริง ทำการทดลองในห้องปิดที่ไม่มีอิทธิพลของรังสีอาทิตย์และแรงลมภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง วัดอุณหภูมิและความเร็วลมในส่วนต่างๆ ของกล่องทดลอง ทำการทดลองกับกระจก 5 ชนิด โดยกระจกชั้นนอกจะใช้กระจก 3 ชนิดคือ กระจกใส กระจกสีตัดแสง และกระจกสะท้อนแสง ส่วนกระจกชั้นในจะใช้กระจกใสและกระจกอินซูเลทใสเพื่อเป็นตัวแทนของกระจกที่มีค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนสูงและต่ำตามลำดับ ซึ่งกระจกทั้ง 5 ชนิดนี้สามารถนำมาจับคู่เพื่อทำการทดลองได้ทั้งหมด 6 รูปแบบคือ กระจกใสกับกระจกใส กระจกสีตัดแสงกับกระจกใส กระจกสะท้อนแสงกับกระจกใส กระจกใสกับกระจกอินซูเลทใส กระจกสีตัดแสงกับกระจกอินซูเลทใส และกระจกสะท้อนแสงกับกระจกอินซูเลทใส
    หลังจากนั้นนำค่าอุณหภูมิและความเร็วลมที่วัดได้มาคำนวณโดยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อหาค่าสัมประสิทธิ์การถ่ายเทความร้อนรวมของผนัง (U-factor) จากการคำนวณพบว่าความต่างของอุณหภูมิผิวกระจกชั้นนอกกับอุณภูมิภายในช่องอากาศ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดความเร็วลมและค่าสัมประสิทธิ์การพาความร้อน (hc) ถ้ามีความต่างมากความเร็วลมและค่า hc ภายในช่องอากาศก็จะมีค่ามากตาม ซึ่งค่า hc จะมีผลต่อค่า U-factor ของระบบผนังกระจกสองชั้นเป็นอย่างมาก โดยค่า U-factor ของระบบผนังกระจกสองชั้นที่มีกระจกสะท้อนแสงเป็นกระจกชั้นนอกและกระจกอินซูเลทใสเป็นกระจกชั้นในมีค่า U-factor น้อยที่สุดคือ 0.843 W/m2.K และระบบผนังกระจกสองชั้นที่มีกระจกสีตัดแสงเป็นกระจกชั้นนอกและกระจกใสเป็นกระจกชั้นในมีค่า U-factor มากที่สุดคือ 1.464 W/m2.K และเมื่อนำค่า U-factor ของระบบผนังกระจกสองชั้นมาเปรียบเทียบกับระบบผนังกระจกชั้นเดียว พบว่าค่า U-factor ของระบบผนังกระจกสองชั้นมีค่าต่ำกว่า 51-72%
    การใช้กระจกสะท้อนแสงเป็นกระจกชั้นนอกในระบบผนังกระจกสองชั้นจะมีประสิทธิภาพในการกันความร้อนได้ดีที่สุดเนื่องจากเมื่อนำมาประกอบเป็นระบบผนังกระจกสองชั้นแล้วจะมีค่า U-factor และ ค่าสัมประสิทธิ์การบังแดด (SC) ที่น้อยที่สุด การใช้กระจกชั้นในเป็นกระจกอินซูเลทใสจะทำให้ลดความแตกต่างของค่า U-factor ที่เกิดขึ้นเมื่อกระจกชั้นนอกเป็นกระจกต่างชนิดกันลงได้ โดยในระบบผนังกระจกสองชั้นค่า SC จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการกันความร้อนมากกว่าค่า U-factor เนื่องจากค่า U-factor ของระบบผนังกระจกสองชั้นจะมีค่าใกล้เคียงกันแม้ว่ากระจกภายนอกจะต่างชนิดกัน
    คำสำคัญ : ระบบผนังกระจกสองชั้น; การระบายอากาศโดยวิธีธรรมชาติ; แบบจำลองทางคณิตศาสตร์

  4. บทคัดย่อ

    ในงานวิจัยนี้ได้นำเสนอระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ เพื่อใช้หาตำแหน่งที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าที่อาศัยก๊าซชีวภาพจากมูลโคนมสำหรับ สหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินลำพญากลาง อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี โดยขอบเขตของการศึกษาครอบคลุมฟาร์มโคนมจำนวน 733 ฟาร์ม ประกอบด้วยโคนมจำนวน 18,962 ตัว ตำแหน่งที่เป็นไปได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด มี 3 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งที่ตั้งสหกรณ์โคนม ตำแหน่งที่ตั้งครัวเรือนหนาแน่นและตำแหน่งที่มีจำนวนการเลี้ยงโคนมหนาแน่น รวมถึงมุ่งเน้นในส่วนของขนาดโรงไฟฟ้าที่อาศัยก๊าซชีวภาพจากมูลโคนม โดยพิจารณาประสิทธิภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพจากเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพ 5 แบบอันได้แก่ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบการไหลขึ้นระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบปิดคลุมบ่อ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบถังกวนสมบูรณ์ ระบบผลิตก๊าซชีวภาพเเบบตรึงฟิล์มจุลินทรีย์ และระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบผสมเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังได้ทำการประเมินดัชนีทางการเงินในรูปของ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุน อัตราผลตอบแทนภายใน เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการหาขนาดและตำแหน่งที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าที่อาศัยก๊าซชีวภาพจากมูลโคนมของสหกรณ์โคนม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าขนาดที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าที่อาศัยก๊าซชีวภาพจากมูลโคนมคือ 952 กิโลวัตต์ โดยใช้ระบบการผลิตก๊าซชีวภาพแบบการไหลขึ้น และตำแหน่งที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าที่อาศัยก๊าซชีวภาพจากมูลโคนมคือที่สหกรณ์โคนมในเขตปฏิรูปที่ดินลำพญากลางซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีต้นทุนค่าขนส่งน้อยที่สุด ท้ายที่สุดผลการวิเคราะห์ทางการเงินพบว่าอัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนมีค่า 1.37 มูลค่าปัจจุบันสุทธิมีค่า 57,420,269.21 บาท ที่อัตราคิดลด 6 เปอร์เซ็นต์ และผลตอบแทนภายในมีค่า 21.16 เปอร์เซ็นต์ เมื่อพิจารณาอายุโครงการที่ 15 ปี
    คำสำคัญ : โรงไฟฟ้า ก๊าซชีวภาพ มูลโคนม ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

  5. บทคัดย่อ

    การศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาแบบจำลองดัชนีการใช้พลังงานจำเพาะด้วยเทคนิคหน่วยเทียบเท่าในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการวิจัยเพื่อใช้เป็นแนวทางการใช้พลังงานมาตรฐาน (Benchmark) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยวิเคราะห์จากการใช้พลังงานต่อหน่วยผลผลิต (Specific Energy Consumption: SEC) ซึ่งหาได้จากการนำเอาค่าพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมดหารด้วยปริมาณผลผลิตที่ได้และจากการที่โรงงงานแต่ละโรงมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เนื่องจากผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจมีขนาดและความยากง่ายในการผลิตต่างกัน จึงต้องจัดหาวิธีในการปรับเทียบให้เป็นหน่วยเดียวกัน โดยนำเอาเทคนิคหน่วยเทียบเท่า (Equivalent Unit: EU) มาคำนวณหาปริมาณผลผลิตที่ได้ใหม่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมตั้งแต่ไม่ถึง 1% จนถึง 74%
    จากนั้นจึงนำข้อมูลที่ได้มาทำแบบจำลองการใช้เกณฑ์ดัชนีชี้วัดการใช้พลังงาน โดยทำการรวมรวบตัวแปรที่ส่งผลต่อการใช้พลังงาน แล้ววิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน ด้วยวิธีการวิเคราะห์การถดถอยแบบพหุคูณ จากผลการศึกษาพบว่าตัวแปรหลักที่มีผลต่อการใช้พลังงาน คือ ชั่วโมงการทำงาน จำนวนของผลิตภัณฑ์ และผลต่างของอุณหภูมิ ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้ได้พัฒนาแบบจำลอง โดยแบ่งผลิตภัณฑ์ออกเป็น 5 ผลิตภัณฑ์ คือ A, B, C, D และ E ทำให้ได้แบบจำลอง 5 สมการ ดังนี้ 1. พลังงานไฟฟ้า (kWh) = -1,175 + (0.094 x ผลิตภัณฑ์ A1) + (0.026xผลิตภัณฑ์ A2) + (0.00038 x ผลิตภัณฑ์ A3) + (0.0142 x ผลิตภัณฑ์ A4) + (0.0179 x ผลิตภัณฑ์ A5) , 2. พลังงานไฟฟ้า (kWh) = – 4,055 + (0.0848 x ผลิตภัณฑ์ B1) + (0.0518xผลิตภัณฑ์ B2) + (0.00907 x ผลิตภัณฑ์ B3) + (0.0603 x ผลิตภัณฑ์ B4) , 3.พลังงานไฟฟ้า (kWh) = -3487, + (0.00916 x ผลิตภัณฑ์ C1) + (0.0358xผลิตภัณฑ์ C2) + (0.0382 x ผลิตภัณฑ์ C3) , 4.พลังงานไฟฟ้า (kWh) = -1,849 +(0.0127 x ผลิตภัณฑ์ D1) + (0.00857xผลิตภัณฑ์ D2) , 5.พลังงานไฟฟ้า (kWh) = -3,098 +(0.0179 x ผลิตภัณฑ์ E1) + (0.00568xผลิตภัณฑ์ E2)
    คำสำคัญ : พลังงาน ดัชนีการใช้พลังงาน และแบบจำลองการใช้พลังงาน

  6. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้สนใจศึกษาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกลีเซอรอลดิบ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการผลิตไบโอดีเซล เป็นที่ทราบกันว่าปฏิกิริยาออกซิเดชันของกลีเซอรอลโดยใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาฐานทองจะให้กรดกลีเซอริกเป็นผลิตภัณฑ์หลัก สำหรับการศึกษานี้ได้เลือกใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาทองระดับนาโนที่มีซิเทรตเป็นสารคงสภาพ และใช้ กลีเซอรอลบริสุทธิ์เป็นสารตั้งต้นเพื่อศึกษาหาภาวะที่เหมาะสมต่อการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน โดยปัจจัยสำคัญที่ศึกษาได้แก่ อุณหภูมิและเวลาในการทำปฏิกิริยา ความดันแก๊สออกซิเจน ความเข้มข้นของตัวเร่งปฏิกิริยา ความเข้มข้นของสารตั้งต้น และความเข้มข้นของเบสที่ใช้ในปฏิกิริยาออกซิเดชัน ผลการศึกษาพบว่าการออกซิเดชันของกลีเซอรอลที่อุณหภูมิ 80 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ที่ความดันแก๊สออกซิเจน 3 บาร์ ใช้ความเข้มข้นของตัวเร่งปฏิกิริยา 50 ส่วนในล้านส่วน ความเข้มข้นของสารตั้งต้น 0.6 โมลต่อลิตร และอัตราส่วนระหว่างเบสต่อกลีเซอรอลเท่ากับ 1:1 เป็นภาวะที่ดีที่สุดในการออกซิเดชันกลีเซอรอลบริสุทธิ์ กล่าวคือภายใต้ภาวะดังกล่าวให้การเปลี่ยนแปลงของกลีเซอรอลและร้อยละผลได้ของกรดกลีเซอริกเชิงสเปกโตรสโกปีมากที่สุด ในขณะที่ปฏิกิริยาออกซิเดชันของกลีเซอรอลที่ได้มาจากการผลิตไบโอดีเซลภายใต้ภาวะเดียวกันให้ค่าการเปลี่ยนแปลงของกลีเซอรอลและร้อยละผลได้ของกรดกลีเซอริกเชิงสเปก-โตรสโกปีต่ำกว่าเมื่อเทียบกับการใช้กลีเซอรอลบริสุทธิ์เป็นสารตั้งต้น
    คำสำคัญ :กรดกลีเซอริก; ออกซิเดชันของกลีเซอรอล; ทองนาโน

Volume : 7    Issue : 2    Year : 2010

in: วารสารวิจัยพลังงาน
total views : 67,663 views