ที่มาโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเพื่อจัดการของเสียจากเศษอาหารจากโรงแรมและสถานประกอบการต่างๆ
 


พลังงานทดแทนเป็นแหล่งพลังงานหนึ่งที่กระทรวงพลังงานได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นพลังงานทดแทน จากการใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และสามารถช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป เทคโนโลยีการบำบัดของเสียแบบไร้อากาศ (Anaerobic Digestion) เป็นเทคโนโลยีหนึ่ง ที่นำมาใช้การบำบัดของเสียอินทรีย์ที่ให้ก๊าซชีวภาพเป็นผลพลอยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานทดแทน และยังเป็นการช่วยบรรเทาการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน (Global Warming)

จึงเกิดแนวคิดในการจัดการขยะของเสียที่แหล่งกำเนิด ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญในการส่งเสริมให้เกิดการจัดการของเสียเศษอาหาร ที่เป็นขยะอินทรีย์ดังกล่าว โดยใช้เทคโนโลยีการบำบัดของเสียแบบไร้อากาศ(Anaerobic Digestion) นอกจากสามารถผลิตก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานทดแทนแล้ว ยังได้ผลพลอยได้คือกากของเสียจากกระบวนการย่อยสลายสารอินทรีย์ ที่สามารถใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ อันจะเป็นการช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ กระทรวงพลังงานจึงมีการผลักดัน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ และมีความประสงค์ในการพัฒนาระบบผลิตก๊าซชีวภาพ และนำก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์ โดยได้รับความเห็นชอบจาก คณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (กทอ.) ที่มีมติเห็นชอบแผนการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ โดยจัดสรรงบประมาณ 180 ล้านบาท ให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เลขานุการคณะกรรมการกองทุนฯ สำหรับดำเนินโครงการส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ เป็นเวลาต่อเนื่อง 5 ปี ตั้งแต่ปี 2551-2555 โดยมี สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สถาบันฯ) เป็นผู้ดำเนินโครงการ ในการสำรวจและประเมินสถานภาพการจัดการขยะของเสียเศษอาหาร และความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ ของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือให้เกิดการใช้เทคโนโลยีก๊าซชีวภาพในประเทศไทย ครอบคลุมกลุ่มสถานประกอบการโรงงาน การค้าและพาณิชย์ ชุมชน และครัวเรือน

   
  วัตถุประสงค์
 


เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำขยะเศษอาหารที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของสถานประกอบการกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ โรงแรม ศูนย์การค้า ร้านอาหาร สถาบันการศึกษา โรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงสถานประกอบการต่างๆที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้
เป็นพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นตอบสนองต่อเป้าหมายภายใต้แผนส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ ปี 2551-2555

 

  กลุ่มเป้าหมาย
 


กลุ่มเป้าหมายของสถานประกอบการที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพมาใช้ในการบำบัด และจัดการของเสียประเภทขยะเศษอาหาร โดยมีการนำก๊าซชีวภาพมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานทดแทน


1.โรงแรม รีสอร์ท ที่มีของเสียเศษอาหารจากครัว และการจัดเลี้ยงต่างๆ

2.ศูนย์การค้าประเภท Supermarket และ/หรือ Hypermarket ที่มีของเสียเศษอาหารจาก Food Court ร้านค้าและร้านอาหารต่างๆ

3.ภัตตาคาร ร้านอาหาร และ/หรือสถาบันการศึกษาที่มีของเสียเศษอาหารจากการบริโภคและดำเนินกิจกรรมต่างๆ

4.โรงงานอุตสาหกรรม และ/หรือสถานประกอบการต่างๆ ที่มีเศษอาหารจากโรงอาหารภายในพื้นที่สถานประกอบการ เป็นต้น

เป้าหมายการส่งเสริมจำนวนสถานประกอบการโรงแรมรวมถึงสถานประกอบการต่างๆภายใต้แผนงานส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพ
ปี 2551-2555 จะมีจำนวนสถานประกอบการที่ติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะเศษอาหารรวมทั้งสิ้นประมาณ 300 แห่ง โดยใช้งบประมาณ
ที่จัดสรรจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพื่อดำเนินงานประมาณ 180 ล้านบาท ภายใต้แผนงานส่งเสริมเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพเพื่อจัดการของเสียขยะเศษ ได้แบ่งระยะการดำเนินโครงการรวมออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งมีเป้าหมายดังนี้

ระยะที่

เป้าหมาย (ระบบ)

ปริมาณเศษอาหารรวม (กก./วัน)

การผลิตก๊าซชีวภาพ (ลบ.ม./ปี)

1

20

6,200

186,000

2

60

14,500

435,000

3

220

44,000

1,320,000