วารสารวิจัยพลังงาน ปีที่10 ฉบับที่1, 2556

Detail:

  1. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาผลกระทบของราคาพลังงานที่มีต่อค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของการเดินทาง 3 รูปแบบ คือ 1) รถยนต์ส่วนบุคคล 2) จอดแล้วจร และ 3) ระบบขนส่งสาธารณะ โดยใช้เส้นทางขาเข้าเมืองของกรุงเทพมหานครในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าเวลา 6.00 – 9.00 น. เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนรถยนต์ส่วนบุคคล จากการวิเคราะห์พบว่าค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลในปัจจุบันมีค่าแตกต่างจากการใช้ระบบขนส่งสาธารณะไม่มากนัก แต่รถยนต์ส่วนบุคคลใช้เวลาในการเดินทางที่น้อยกว่าอย่างชัดเจน ในส่วนของการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานพบว่ารถโดยสารประจำทางมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานมากกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล แต่การเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากดีเซลเป็นก๊าซธรรมชาติสามารถลดความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานของรถโดยสารประจำทางและทำให้ต้นทุนการเดินรถต่ำลง ส่วนของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงราคาพลังงานน้อยที่สุด
    ผู้วิจัยได้จัดทำกรณีเสนอแนะ 2 กรณี โดยเน้นการเพิ่มความแตกต่างของค่าใช้จ่ายในการเดินทางของรถยนต์ส่วนบุคคลและระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้นด้วยการ 1) ลดค่าโดยสารของระบบขนส่งสาธารณะลง 2) เพิ่มค่าใช้จ่ายของการ ใช้รถยนต์ส่วนบุคคลขึ้น ซึ่งภาครัฐสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินนโยบายโครงสร้างราคาค่าโดยสารและโครงสร้างราคาพลังงานสำหรับภาคการขนส่งได้
    คำสืบค้น : ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน, ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง, การวิเคราะห์ความอ่อนไหว

  2. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้ศึกษาศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทย โดยจำแนกประเภทของอุตสาหกรรมสิ่งทอตามชนิดของผลิตภัณฑ์หลัก วิเคราะห์ค่าดัชนีการเกิดคาร์บอน (Carbon Intensity; CI) ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้วิเคราะห์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานใน 2 ลักษณะ ได้แก่ การเปรียบเทียบเชิงมูลค่าและการเปรียบเทียบเชิงกายภาพ ผลการศึกษาพบว่า ค่า CI ของอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทยมีค่าสูงที่สุด เมื่อเปรียบเทียบเชิงมูลค่ากับต่างประเทศ และการเปรียบเทียบค่า CI เชิงกายภาพของโรงงานควบคุมอุตสาหกรรมสิ่งทอในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่า ค่าเฉลี่ย CI เท่ากับ 2.89, 4.71 และ 3.61 tCO2eq/ตัน ได้แก่ โรงงานควบคุมอุตสาหกรรมการปั่นด้าย ทอผ้า และตกแต่งสำเร็จสิ่งทอ ตามลำดับ สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ต่ำ การเพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานบนพื้นฐานปริมาณ การผลิตผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น จะส่งผลให้ค่า CI ลดลง และการปรับปรุงเครื่องจักรและเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด ผลการศึกษาพบว่า สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 154,733 tCO2eq หรือคิดเป็นร้อยละ 6.34 ของโรงงานควบคุมปี พ.ศ. 2550 เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่มีศักยภาพลดก๊าซเรือนกระจกจาก การใช้การพลังงานมากที่สุด ได้แก่ มอเตอร์ไฟฟ้า คอมเพรสเซอร์ และหม้อต้มน้ำ คิดเป็นร้อยละ 63, 31 และ 7 ตามลำดับ การพิจารณาศักยภาพการลดก๊าซเรือนของโรงงานควบคุมอุตสาหกรรมสิ่งทอ เมื่อขยายผลการศึกษาสู่ภาพรวมข้อมูลกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานของอุตสาหกรรมสิ่งทอประเทศไทย จะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 332,719 tCO2eq ในปี พ.ศ. 2550
    คำสืบค้น : ก๊าซเรือนกระจก, ค่าดัชนีการเกิดคาร์บอน, ประสิทธิภาพเครื่องจักร, พลังงาน, อุตสาหกรรมสิ่งทอ

  3. บทคัดย่อ

    บทความนี้นำเสนอการวิเคราะห์ศักยภาพและมาตรการเชิงนโยบายเพื่อส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าโดยใช้เชื้อเพลิงปฐมภูมิได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยอาศัยระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อนหรือความเย็นร่วมกัน (Combined Cooling, Heating, and Power: CCHP) ผลจากการศึกษานำไปสู่แนวทางการกำหนดสัดส่วนกำลังการผลิตจากระบบ CCHP ที่เหมาะสมในแผนพัฒนากำลังผลิตของประเทศไทย สอดคล้องกับตัวเลขคาดหวังในการประหยัดพลังงานปฐมภูมิที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ
    คำสืบค้น : ระบบผลิตไฟฟ้าและความร้อน-ความเย็นร่วม, ประสิทธิภาพพลังงาน, แผนพัฒนากำลังผลิต

  4. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้ศึกษาแนวทางการเลือกเทคโนโลยีถ่านหินสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยใช้แบบจำลองพลังงานที่มีชื่อว่า Long-rang Energy Alternatives Planning System ประเมินการจำลองภาพเหตุการณ์พื้นฐานตามการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 และประเมินการจำลองภาพเหตุการณ์ทางเลือกต่างๆ ของปัจจัยที่ส่งผลต่อการลดการปล่อย CO2 ได้แก่ เชื้อเพลิงถ่านหิน เทคโนโลยีการเผาไหม้ และเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS) โดยในงานวิจัยนี้เทคโนโลยีการเผาไหม้ที่ศึกษาได้แก่ เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบยิ่งยวด (SubPC) เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบเหนือยิ่งยวด (SuperPC) เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบฟลูอิไดซ์เบดหมุนวน (SubCFB) เทคโนโลยีแก็สซิฟิเคชั่นกับวัฏจักรความร้อนร่วม (IGCC) เทคโนโลยีการเผาไหม้แบบเหนือยิ่งยวดโดยใช้หม้อกำเนิดแรงดันสูง (Ultra-SuperPC) และเทคโนโลยีการเผาไหม้โดยใช้ออกซิเจนบริสุทธิ์ (Oxy–fuel Combustion) ส่วนเทคโนโลยี CCS เลือกใช้วิธีใช้โมโนเอทานอลเอมีน (MEA) เป็นสารเคมีดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เนื่องจากเป็นวิธีที่นิยมและใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ ผลการศึกษาเมื่อพิจารณาด้านปริมาณการปล่อย CO2 พบว่า ภาพเหตุการณ์ทางเลือกไม่มี CCS ที่ใช้เทคโนโลยี Oxy-fuel เผาไหม้เชื้อเพลิงบิทูมินัสและภาพเหตุการณ์ทางเลือกที่มี CCS ที่ใช้เทคโนโลยี Ultra-SuperPC เผาไหม้เชื้อเพลิงบิทูมินัสปล่อย CO2 ออกจากระบบน้อยที่สุดใกล้เคียงกัน 117 ล้านตัน CO2 เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2573 แต่ภาพเหตุการณ์ทางเลือกที่ใช้เทคโนโลยี Oxy-fuel และไม่มี CCS มีต้นทุนเฉลี่ยรายปีต่ำกว่าภาพเหตุการณ์ทางเลือกที่ใช้เทคโนโลยี Ultra-SuperPC และไม่มี CCS ในระบบ เมื่อพิจารณาด้านต้นทุนพบว่า ภาพเหตุการณ์ทางเลือกที่ไม่มี CCS และใช้เทคโนโลยี SuperPC เผาไหม้เชื้อเพลิงบิทูมินัส มีต้นทุนเฉลี่ยจากระบบดังกล่าวต่ำสุดประมาณ 1,195 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี แต่มีการปล่อย CO2 ประมาณ 140 ล้านตัน CO2 เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2573 พบอีกว่าเทคโนโลยี IGCC ที่ใช้เชื้อเพลิงซับบิทูมินัสในการเผาไหม้และมี CCS มีต้นทุนในการลดการปล่อย CO2 ต่อหน่วยต่ำที่สุดประมาณ 58 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นการพิจารณาทางเลือกการใช้พลังงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดจำเป็นต้องพิจารณาทั้งด้านศักยภาพการปล่อย CO2 และด้านต้นทุนที่ใช้เนื่องจากปัจจัยทั้ง 2 ตัวนี้มีความสัมพันธ์กัน
    คำสืบค้น : โรงไฟฟ้าถ่านหิน, เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด, ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์, ต้นทุนการจัดการมลพิษ, เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

  5. บทคัดย่อ

    ซีรัมน้ำทิ้งเป็นน้ำทิ้งที่เกิดจากกระบวนการสกิมของโรงงานผลิตน้ำยางข้น ซึ่งเป็นแหล่งน้ำทิ้งที่มีค่าบีโอดีมากที่สุด มีผลให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้าในการเติมอากาศเพื่อลดค่าบีโอดีของน้ำทิ้งรวมภายในโรงงานมากขึ้น ขณะเดียวกันซีรัมน้ำทิ้งดังกล่าวยังสามารถใช้เป็นแหล่งธาตุอาหารสำหรับพืชได้ แต่ยังคงมีข้อจำกัดในการใช้ประโยชน์เนื่องจากเสียสภาพได้ในเวลาอันสั้นจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ในซีรัมน้ำทิ้งเหล่านั้น ดังนั้นเทคโนโลยีการรักษาสภาพซีรัมน้ำทิ้งด้วยสารกันบูดจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ซึ่งนำไปสู่การลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและการเกิดแก๊สเรือนกระจกในกระบวนการผลิตน้ำยางข้นได้เป็นอย่างดี จึงวางแผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design (RCBD) ทำ 3 ซ้ำ มี 10 ตำรับทดลอง ประกอบด้วยซีรัมน้ำทิ้งที่เติมสารกันบูด 3 ชนิด ชนิดละ 3 ระดับความเข้มข้น และซีรัมน้ำทิ้งที่ไม่เติมสิ่งทดลอง โดยหนึ่งหน่วยการทดลอง คือ ขวดพลาสติกประเภท High Density Polyethylene (HDPE) ขนาด 1000 ซีซีอีกทั้งทำการตรวจวัดปริมาณแก๊สมีเทนจากซีรัมน้ำทิ้งโดยใช้เทคนิค Fourier Transform Infrared (FT-IR) ผลการศึกษา พบว่า สารกันบูดที่รักษาสภาพซีรัมน้ำทิ้งได้ดีที่สุด คือ โพแทสเซียมซอร์เบทที่ระดับความเข้มข้น 0.20% สามารถรักษาสภาพซีรัมน้ำทิ้งได้ยาวนานถึง 30 วัน โดยที่ยังคงรักษาปริมาณธาตุอาหารหลัก (N, P, K) ของพืชภายในซีรัมน้ำทิ้งไว้ได้ และมีผลให้ปริมาณโพแทสเซียมในซีรัมน้ำทิ้งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ( p < 0.05) อีกทั้งสมบัติทางเคมีของซีรัมน้ำทิ้งภายหลังการรักษาสภาพ (pH =7.50) อยู่ในช่วงที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อการเจริญเติบโตของพืช สำหรับค่าการนำไฟฟ้าพบว่าไม่แตกต่างทางสถิติกับซีรัมน้ำทิ้งที่ไม่ได้เติมสารกันบูด ทั้งนี้หากมีการบริหารจัดการโดยแยกซีรัมน้ำทิ้งออกจากระบบบำบัดน้ำทิ้งของโรงงาน ส่งผลให้การใช้พลังงานไฟฟ้าในการบำบัดน้ำทิ้งลดลง 24.78 – 42.37 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อลูกบาศก์เมตร และลดการเกิดแก๊สมีเทนขณะที่มีกระบวนการสกิมได้ถึง 4.76 มิลลิกรัมต่อลิตร
    คำสืบค้น : กระบวนการผลิตน้ำยางข้น, พลังงานไฟฟ้า, แก๊สมีเทน, ซีรัมน้ำทิ้ง, เทคโนโลยีการรักษาสภาพ

Volume : 10    Issue : 1    Year : 2013

in: วารสารวิจัยพลังงาน
total views : 13,738 views