วารสารวิจัยพลังงาน ปีที่9 ฉบับที่ 3, 2555

Detail:

  1. บทคัดย่อ

    การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงพฤติกรรมการรับรู้เกี่ยวกับการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์เพื่อการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน กรณีศึกษา: สปอตโฆษณาหลอดผอมเบอร์ 5 ของกระทรวงพลังงาน ในชุด “ทราบแล้วเปลี่ยน หลอดผอมเบอร์ 5” โดยใช้แบบสอบถามในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 400 คน วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป SPSS for windows (Statistical Package for the Social Science) ผลการวิจัยพบว่า ลักษณะทางประชากร ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา และอาชีพที่แตกต่างกัน มีพฤติกรรมการรับรู้เกี่ยวกับการโฆษณา และการประชาสัมพันธ์เพื่อการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานที่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญไม่มากไปกว่า 0.05 และการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์เพื่อการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับนัยสำคัญ 0.01 นอกจากนี้ยัง พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 19 — 25 ปี เป็นกลุ่มที่สามารถรับรู้และจดจำข้อความ เนื้อหาและประโยชน์เกี่ยวกับการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์เพื่อการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน ได้มากที่สุด และพบว่าการจัดกิจกรรมส่งเสริมและการให้สิ่งจูงใจ เช่น บัตรส่วนลดหรือของรางวัล สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อการประหยัดพลังงานได้ในทันที
    คำสืบค้น : พฤติกรรมการรับรู้, การโฆษณา, การประชาสัมพันธ์ และการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงาน

  2. บทคัดย่อ

    งานวิจัยฉบับนี้ได้นำเสนอแนวคิดการเปรียบเทียบระบบการจัดการพลังงานต่างๆที่เหมาะสมแก่อุตสาหกรรมประเภทอิเล็กทรอนิกส์ วิธีดำเนินการวิจัย เปรียบเทียบเนื้อหา ข้อกำหนด หลักเกณฑ์ และ ขั้นตอนของระบบจัดการพลังงาน ได้แก่ มาตรฐานระบบการจัดการพลังงาน (Energy Management Systems): ISO 50001 มาตรฐานการจัดการพลังงานยุโรป (European Energy Management Standard): EN 16001:2009 และระบบการจัดการพลังงาน (The American National Standards Institute/Management System for Energy): ANSI/MSE 2000:2008 โดยจะยึดเอาองค์ประกอบของระบบการจัดการพลังงานในประเทศไทย 8 ขั้นตอนตามกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการพลังงานใน โรงงานควบคุมและอาคารควบคุม พ.ศ. 2552 เป็นหลัก เพื่อวิเคราะห์จุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละระบบ ซึ่งนำไปสู่การเสนอแผนปรับปรุงระบบการจัดการพลังงานที่เหมาะสมในกระบวนการผลิตของโรงงานกรณีศึกษา
    คำสืบค้น : ระบบการจัดการพลังงาน, โรงงานผลิตวงจรอิเล็กทรอนิกส์, ISO 50001, BS EN 16001, ANSI/MSE 2000

  3. บทคัดย่อ

    ห้องสะอาดคือห้องที่ถูกควบคุมสภาวะแวดล้อมภายใน เป็นพื้นที่ที่ต้องควบคุม อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ ความเร็วลม ความดันอากาศ และ อนุภาคแขวนลอยในอากาศ โดยเงื่อนไขข้างต้นนี้ในแต่ละ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้า จะต้องเป็นไปตามข้อกำหนดของลูกค้าเป็นหลัก จากการควบคุมสภาวะความชื้นสัมพัทธ์ให้เป็นไปตามเงื่อนไขทำให้ระบบปรับอากาศต้องทำงานตลอดเวลา ผลการบันทึกการใช้พลังงานไฟฟ้าของอุตสาหกรรมผลิต วอยซ์ คอยล์ มอเตอร์ ในปี 2552 และ 2553 สัดส่วนการใช้พลังงานไฟฟ้าในระบบปรับอากาศของห้องสะอาดนั้นเพิ่มมากขึ้นจาก 40.35% เป็น 41.68% คิดเทียบจากปริมาณของการใช้พลังงานทั้งหมดของโรงงาน จากสถิติ และการจดบันทึกข้อมูลพฤติกรรมที่ผิดปกติในกระบวนการผลิต ได้ถูกนำมาวิเคราะห์เพื่อแสดงความสัมพัทธ์กันระหว่าง อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ โดยใช้แบบจำลองสมการการถดถอยเชิงเส้นอย่างง่ายและสมการต้นแบบการถดถอยพหุคูณ ด้วยการตั้งสมมติฐานให้อุณหภูมิควบคุมของห้องสะอาดทุกคลาสเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส และให้ความชื้นสัมพัทธ์ของห้องสะอาดทุกคลาสเพิ่มขึ้น 1% แล้วแทนค่าอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ลงในสมการต้นแบบเพื่อจำลองพยากรณ์ค่าไฟฟ้าที่อาจจะประหยัดได้ ผลจากการจำลองด้วยสมการต้นแบบคือ ภายใน 24 เดือนอาจจะประหยัดค่าไฟฟ้าได้ เท่ากับ 5,9695,556 บาท หากปรับอุณหภูมิขึ้น 1 องศาเซลเซียส และปรับความชื้นสัมพัทธ์ขึ้น 1 %
    คำสืบค้น : ห้องสะอาด, วิเคราะห์เชินสถิติ, วอยซ์ คอยล์ มอเตอร์,ประหยัดพลังงานห้องสะอาด

  4. บทคัดย่อ

    การอุ่นน้ำป้อนก่อนเข้าหม้อไอน้ำโดยผ่านอีโคโนไมเซอร์เป็นวิธีการประหยัดพลังงานที่ใช้ในการเผาไหม้วิธีการหนึ่ง เนื่องจากเป็นการทำให้น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลให้หม้อไอน้ำใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงลดน้อยลง อย่างไรก็ตามการใช้อีโคโนไมเซอร์เป็นเรื่องยาก เนื่องจากเกิดปัญหาการกัดกร่อนของกรดที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทำให้อุปกรณ์เกิดความเสียหายเนื่องจากอุณหภูมิของผิวถ่ายเทความร้อนต่ำกว่าอุณหภูมิกลั่นตัวของกรด โดยงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาการควบคุมอุณหภูมิของน้ำในระบบอุ่นน้ำป้อนก่อนเข้าอีโคโนไมเซอร์ เพื่อป้องกันก๊าซเสียกลั่นตัวเป็นกรด ในการศึกษานั้นได้ใช้หม้อไอน้ำขนาด 3,000 kg/h ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวเป็นเชื้อเพลิง มีอุณหภูมิก๊าซเสีย 170 oC โดยอีโคโนไมเซอร์ผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิม มีกำลังการผลิตจากการออกแบบ 11 kW มีพื้นที่ผิวถ่ายเทความร้อนทั้งหมด 18.91 m2 และน้ำภายในถังคอนเดนเสทมีอุณหภูมิประมาณ 43 oC และไอน้ำที่นำกลับมาใช้ในการอุ่นน้ำมีความดัน 6 bar อุณหภูมิ 160 oC ซึ่งในระบบมีการติดตั้งอุปกรณ์วัดอัตราการไหล วัดความดันและวัดอุณหภูมิ โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการควบคุมอัตราการไหลของน้ำผ่านวาล์วควบคุมก่อนเข้าอีโคโนไมเซอร์
    ในการทดลองได้กำหนดให้อุณหภูมิของน้ำก่อนเข้าอีโคโนไมเซอร์อยู่ที่ 70 oC ให้สูงกว่า 54 oC ซึ่งคืออุณหภูมิกลั่นตัวเป็นกรดที่เกิดจากการเผาไหม้ของก๊าซปิโตรเลียมเหลว จากการทดลองพบว่าอุณหภูมิผิวท่อด้านนอกภายในอีโคโนไมเซอร์ มีอุณหภูมิต่ำสุด 82 oC ซึ่งสูงกว่าอุณหภูมิกลั่นตัวของกรดที่เกิดจากการเผาไหม้ของก๊าซปิโตรเลียมเหลว จึงไม่ทำให้ ก๊าซเสียกลั่นตัวเป็นกรดและไม่ทำให้ท่อเกิดการกัดกร่อน นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ 3.3% เมื่อเทียบกับช่วงแรกก่อนที่มีการอุ่นน้ำ
    คำสืบค้น : อีโคโนไมเซอร์, การกัดกร่อน, อุณหภูมิกลั่นตัว, วาล์วควบคุม

  5. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้เป็นการศึกษา ลักษณะของการเผาไหม้ ปริมาณและการเกิดอนุภาคระหว่างการเผาไหม้ถ่านหินลิกไนต์ และชีวมวล 3 ชนิด ได้แก่ แกลบ กากอ้อย และใยปาล์ม และการเผาไหม้ร่วมกันของเชื้อเพลิงดังกล่าวที่อัตราส่วนผสมร้อยละ 50 โดยทำการเผาไหม้แบบแบทช์ในเตาเผาเพื่อศึกษาปริมาณอนุภาคที่เกิดขึ้น และทำการเผาไหม้ด้วยเครื่อง Thermogravimetric-Differential Thermal Analysis (TG-DTA) ที่เชื่อมต่อกับเครื่องวัดปริมาณตามขนาดอนุภาค Scanning Mobility Particle Sizer (SMPS) เพื่อศึกษาลักษณะของการเผาไหม้และการเกิดอนุภาคระหว่างการเผาไหม้ ผลการศึกษาพบว่าปริมาณอนุภาคที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้กากอ้อยมีปริมาณมากที่สุด รองลงมาคือ ใยปาล์ม แกลบ และถ่านหินลิกไนต์ โดยมีปริมาณอนุภาคเท่ากับ 58.3, 36.0, 12.6 และ 10.4 มิลลิกรัมต่อกรัมเชื้อเพลิงตามลำดับ และในการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงทุกชนิดพบว่าปริมาณอนุภาคละเอียด (dp1.1 ไมครอน)โดยน้ำหนัก จากการศึกษาลักษณะการเผาไหม้และการเกิดอนุภาคพบว่ามีการเผาไหม้ของชีวมวลเริ่มขึ้นที่อุณหภูมิใกล้เคียงกับการเผาไหม้ถ่านหินลิกไนต์ แต่การเผาไหม้ชาร์ของถ่านลิกไนต์เกิดขึ้นที่อุณหภูมิสูงกว่าชีวมวล การเผาไหม้ชีวมวลและถ่านหินลิกไนต์อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงชนิดเดียวก่อให้เกิดอนุภาคมากที่สุดที่อุณหภูมิประมาณ 270oC สำหรับชีวมวล และที่อุณหภูมิ 400oC สำหรับถ่านหินลิกไนต์ สำหรับการเผาไหม้ร่วมกันพบว่าอุณหภูมิที่เกิดอนุภาคมากที่สุดนั้นต่ำกว่าการเผาไหม้ถ่านหินลิกไนต์และสูงกว่าการเผาไหม้ชีวมวลเพียงอย่างเดียว
    คำสืบค้น : ชีวมวล, ถ่านหิน, การเผาไหม้ร่วมกัน, ฝุ่นละออง

Volume : 9    Issue : 3    Year : 2012

in: วารสารวิจัยพลังงาน
total views : 93,150 views