วารสารวิจัยพลังงาน ปีที่ 6 ฉบับที่ 1, 2552

Detail:

  1. บทคัดย่อ

    Unified power flow controller (UPFC) เป็นอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์กำลังประเภทหนึ่งที่สามารถควบคุมการไหลของกำลังไฟฟ้าจริง กำลังไฟฟ้ารีแอกทีฟ และควบคุมระดับแรงดันที่บัสได้ จากคุณสมบัติที่ดีในการควบคุมดังกล่าวข้างต้น จึงมีแนวคิดที่จะนำอุปกรณ์ UPFC มาติดตั้งในระบบไฟฟ้าเพื่อปรับปรุงสมรรถนะของระบบไฟฟ้ากำลัง อย่างไรก็ตามผลการปรับปรุงคุณสมบัติของระบบไฟฟ้ากำลังดังกล่าวจะส่งผลโดยตรงต่อความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ากำลังซึ่งอาจจะทำให้ดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้
    งานวิจัยนี้จะนำเสนอวิธีการประเมินผลกระทบของการติดตั้งอุปกรณ์ UPFC ที่มีต่อความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ากำลังด้วยวิธีการจำลองเหตุการณ์แบบมอนติคาร์โล พร้อมทั้งพิจารณาวิธีการแก้ปัญหาเมื่อเกิดปัญหาขึ้นในระบบโดยการเพิ่มหรือลดกำลังการผลิตประกอบกับการตัดโหลดอย่างเหมาะสม สำหรับแบบจำลองของ UPFC ที่ใช้ในวิทยานิพนธ์นี้อาศัยแบบจำลองแบบ voltage source converter (VSC) ซึ่งเป็นแบบจำลองที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับวิธีการคำนวณการไหลของกำลังไฟฟ้าแบบ Newton-Raphson ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งเปรียบเทียบผลของดัชนีความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ากำลังก่อนและหลังการติดตั้งอุปกรณ์ UPFC
    คำสำคัญ : อุปกรณ์ UPFC, ความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้ากำลัง, การจำลองเหตุการณ์แบบมอนติคาร์โล

  2. บทคัดย่อ

    บทความนี้นำเสนอผลการศึกษาเบื้องต้นของการออกแบบพัฒนาและทดลองประยุกต์ใช้แบบจำลองการวิเคราะห์ความต้องการและกำหนดที่ตั้งตำแหน่งสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต โดยเริ่มจากการวิเคราะห์พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคตในพื้นที่ต่าง ๆ ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ แล้วสังเคราะห์เป็นข้อมูลโหลดไฟฟ้าในอนาคตของหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม รวมทั้งกำหนดตำแหน่งจุดความต้องการไฟฟ้าใหม่เพิ่มลงในโครงข่ายระบบไฟฟ้าที่มีอยู่ นำข้อมูลโครงข่ายและจุดตำแหน่งโหลดในอนาคตที่ได้มาวิเคราะห์จัดสรรโหลดไฟฟ้าที่ออกจากสถานีไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์การวางแผนระบบไฟฟ้าของ กฟภ. และเงื่อนไขของระบบสายจำหน่ายที่มีค่าใช้จ่ายต่ำสุด และในกรณีที่โหลดรวมในอนาคตเกินขีดความสามารถของสถานีไฟฟ้าเดิมก็ทำการวิเคราะห์จัดสรรจัดวางตำแหน่งของสถานีไฟฟ้าแห่งใหม่ รวมทั้งวิเคราะห์จัดสรรเส้นทางระบบจำหน่ายไฟฟ้าของแต่ละสถานีไฟฟ้าใหม่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้ได้ทำการออกแบบพัฒนาแบบจำลองตามขั้นตอนดังกล่าว และทดลองดำเนินการวิเคราะห์กับข้อมูลจริงเพื่อตรวจสอบความเป็นไปได้และถูกต้องของแบบจำลองที่พัฒนาขึ้น รวมทั้งเพื่อพัฒนาเป็นกระบวนการขั้นตอนของการดำเนินงานด้าน GIS ที่เกี่ยวข้อง โดยในงานวิจัยใช้ชุดโปรแกรม ArcGIS เวอร์ชั่น 9.1 เป็นเครื่องมือ ซึ่งผลการศึกษาจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และหน่วยงานอื่นที่มีลักษณะภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนพัฒนาระบบจำหน่ายให้บริการทรัพยากรผ่านระบบโครงข่าย เพื่อนำไปพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลสนับสนุนการตัดสินใจแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องต่อไป
    คำสำคัญ : การวิเคราะห์กำหนดตำแหน่งสถานีไฟฟ้า, การวิเคราะห์เชิงโครงข่าย, การจัดสรรพื้นที่บริการ, การวางแผนขยายระบบจำหน่าย, การพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าเชิงพื้นที่

  3. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาดัชนีวัดผลการดำเนินงานหลัก (Key Performance Indicators: KPIs) ที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการกำกับดูแล และประเมินผลการดำเนินงานในด้านของคุณภาพการบริการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ประชาชนมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ และเพิ่มโอกาสที่จะก้าวไปเป็นองค์กรชั้นนำในกิจการไฟฟ้า หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องในระดับสากล งานวิจัยนี้เริ่มต้นจากการรวบรวม KPIs ในด้านของคุณภาพการบริการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด มาจำแนกออกเป็น 4 มุมมองตามแนวคิดของสหภาพยุโรป (EU) อันได้แก่ ด้านคุณภาพ ด้านความต่อเนื่อง ด้านความเชื่อถือได้ และด้านความพึงพอใจของลูกค้า จากนั้นทำการคัดเลือกกลุ่มของ KPIs ที่มีคะแนนของเกณฑ์ด้านความเหมาะสมกับองค์กร และด้านความพร้อมของข้อมูลสูงที่สุดจากการตอบแบบสอบถามของกลุ่มผู้บริหารในฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า สำหรับคะแนนที่ใช้ในการคัดเลือก KPIs นั้นจะแตกต่างกันไปตามน้ำหนักความสำคัญของมุมมองทั้ง 4 และเกณฑ์ต่างๆ ซึ่งน้ำหนักความสำคัญนี้สามารถคำนวณได้โดยเทคนิคกระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์ (Analytical Network Process: ANP) ส่งผลให้ KPIs ทั้ง 8 ตัวที่ถูกคัดเลือกมาซึ่งถือว่าเป็นผลลัพธ์ของการวิจัยในครั้งนี้จะมีคุณภาพเหมาะสม และสอดคล้องกับความต้องการขององค์กรมากที่สุด อีกทั้งยังครบถ้วนทั้ง 4 มุมมองที่ได้กล่าวมาข้างต้น
    คำสำคัญ : กระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์ ดัชนีวัดผลการดำเนินงานหลัก คุณภาพบริการ

  4. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนาดัชนีวัดสมรรถนะหลักให้มีความเหมาะสมในทางปฏิบัติ และสะท้อนถึงการดำเนินงานที่แท้จริง สำหรับใช้ในการกำกับดูแลและประเมินผลการดำเนินงานตามมาตรฐานคุณภาพบริการของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย แนวทางการวิจัยเริ่มจากการศึกษาดัชนีวัดสมรรถนะที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย อันได้แก่การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แล้วนำมาทำการเทียบเคียงกับดัชนีวัดสมรรถนะของการไฟฟ้าของต่างประเทศ โดยแบ่งมุมมองของดัชนีวัดสมรรถนะออกเป็น 5 มุมมองตามแนวคิดของสหภาพยุโรป (EU) อันได้แก่ ด้านคุณภาพ ด้านความต่อเนื่อง ด้านความเชื่อถือได้ ด้านความพึงพอใจของลูกค้า และด้านอื่นๆ หลังจากนั้นทำการสอบถามความคิดเห็นผู้บริหารการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่มีต่อดัชนีวัดสมรรถนะทั้งหมดที่รวบรวมได้ รวมถึงการให้คะแนนน้ำหนักความสำคัญในมุมมองการให้บริการ น้ำหนักความเหมาะสมกับองค์กรและความพร้อมของข้อมูลของแต่ละตัวโดยใช้แบบสอบถาม จากนั้นจึงประยุกต์ใช้เทคนิคกระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์ (Analytical Network Process: ANP) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป Super Decision ในการวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลทั้งหมด ผลการวิจัยทำให้ทราบว่าการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายให้ความสำคัญกับมุมมองในการให้บริการด้านต่างๆ มากน้อยเพียงใด ทราบถึงเกณฑ์ที่มีผลต่อการตัดสินใจในการคัดเลือกดัชนีวัดสมรรถนะหลักขององค์กร โดยได้ดัชนีวัดสมรรถนะหลักที่มีความเหมาะสมกับองค์กรมากที่สุด และมีความพร้อมของข้อมูลทั้งสิ้น 12 ตัว ซึ่งได้ความเห็นชอบจากผู้บริหารการไฟฟ้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว
    คำสำคัญ : กระบวนการโครงข่ายเชิงวิเคราะห์, ดัชนีวัดสมรรถนะหลัก, คุณภาพบริการ

    Download journal.
  5. บทคัดย่อ

    ปัญหาพลังงานที่ทวีความรุนแรงในปัจจุบันทำให้มีความสนใจที่จะพัฒนาพลังงานใหม่ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล กระบวนการผลิตเอสเทอร์จากน้ำมันพืชใช้แล้วเป็นทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ในการพัฒนาพลังงานทดแทนสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลรอบต่ำ หรือนำไปผสมกับน้ำมันดีเซลใช้เป็นน้ำมันไบโอดีเซล ในทางปฏิบัติพบว่าปฏิกิริยาการสังเคราะห์เอสเทอร์จากกระบวนการทรานส์-เอสเทอริฟิเคชั่น (trans-esterification) จะให้กลีเซอรอลจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีความไม่บริสุทธิ์สูง ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นสารตั้งต้นสำหรับการผลิตเครื่องสำอาง งานวิจัยที่ผ่านมามีการศึกษาการแตกตัวด้วยความร้อนในการแตกตัวของสายโซ่ไฮโดรคาร์บอนขนาดใหญ่ไปเป็นโมเลกุลไฮโดรคาร์บอนขนาดเล็กที่มีสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซล งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษากระบวนการแตกตัวด้วยความร้อนของกลีเซอรอลจากกระบวนการผลิตเอสเทอร์เพื่อให้ได้เป็นเชื้อเพลิงเหลว โดยศึกษาในเครื่องปฏิกรณ์แบบต่อเนื่องขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.925 เซนติเมตร ความยาว 12 เมตร ภายใต้ภาวะอุณหภูมิ 380 – 550 องศาเซลเซียส อัตราการป้อนของสารตั้งต้น 3 – 12 กรัมต่อนาที ในภาวะไร้ออกซิเจนภายใต้บรรยากาศของแก๊สไฮโดรเจน 1 – 10 มิลลิลิตรต่อนาที พบว่าภาวะที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนไปเป็นของเหลวได้สูงสุดถึงร้อยละ 94 ที่อุณหภูมิ 500 องศาเซลเซียส อัตราการป้อนของสารตั้งต้น 3.30 กรัมต่อนาที เมื่อนำผลิตภัณฑ์ของเหลวไปวิเคราะห์องค์ประกอบตามคาบจุดเดือดด้วยเครื่องแก๊สโครมาโตรกราฟพร้อมซอฟต์แวร์จำลองการกลั่นพบว่าให้ ร้อยละของดีเซล 50.13 ในขณะที่ให้แกโซลีน 11.99 %wt น้ำมันก๊าด 10.61 %wt กากน้ำมัน 22.03 %wt โดยมีของแข็งและแก๊สไฮโดรคาร์บอนเบาเกิดขึ้นเล็กน้อยประมาณ 5.24 %wt
    คำสำคัญ : เมทิลเอสเทอร์, กลีเซอรอล, การแตกตัวด้วยความร้อน, แก๊สออยล์

  6. บทคัดย่อ

    บทความนี้นำเสนอการสร้างแบบจำลองเชิงประจักษ์ ของแหล่งจ่ายพลังงานสามชนิดที่ใช้ในงานพัฒนาระบบขับเคลื่อนเซลล์เชื้อเพลิงแบบไฮบริดสำหรับรถจักรยานยนต์ ได้แก่ เซลล์เชื้อเพลิงชนิด
    PEMFC ขนาด 1.2 กิโลวัตต์ แบตเตอรี่น้ำกรด-ตะกั่วแบบผนึก และ ชุดเก็บประจุความจุสูง ค่าพารามิเตอร์สำหรับแบบจำลองแหล่งจ่ายพลังงานแต่ละชนิดกำหนดได้จากการทดสอบการจ่ายพลังงานในรูปแบบต่างๆ ผ่านทางชุดรับภาระทางไฟฟ้า เพื่อความเชื่อมั่นในการนำแบบจำลองแหล่งจ่ายพลังงานไปใช้งาน จึงได้ประเมินความแม่นยำของแบบจำลองโดยใช้การจ่ายพลังงานแบบเป็นวัฏจักร พบว่าแบบจำลองของเซลล์เชื้อเพลิงให้การทำนายปริมาณการใช้เชื้อเพลิงผิดพลาดไปจากค่าที่วัดได้จริง 3.4% และการทำนายแรงดันไฟฟ้าตลอดวัฏจักรที่ทดสอบมีความผิดพลาดสูงสุด 5.4% สำหรับแบบจำลองแบตเตอรี่มีความผิดพลาดในการทำนายระดับการประจุ 2.1% และการทำนายแรงดันไฟฟ้าตลอดวัฏจักรที่ทดสอบมีความผิดพลาดสูงสุด 5.7% และแบบจำลองชุดเก็บประจุความจุสูงมีความผิดพลาดในการทำนายแรงดันไฟฟ้าซึ่งเป็นค่าที่บ่งบอกถึงระดับพลังงาน 2.0% จึงสรุปได้ว่าแบบจำลองของแหล่งจ่ายพลังงานทั้งสาม ให้ความแม่นยำดีเพียงพอ และนำมาใช้เป็นแนวทางในการออกแบบระบบขับเคลื่อนต่อไปได้
    Keywords :

  7. บทคัดย่อ

    งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาศักยภาพการระบายอากาศของปล่องแสงอาทิตย์ ที่เป็นผลมาจากการให้ความร้อนเทียบเคียงกับรังสีดวงอาทิตย์แก่ปล่องทดลองในระดับความเข้มตั้งแต่ 300- 800 วัตต์ต่อตารางเมตร โดยจำลองกล่องทดลองขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 2.4 เมตร เจาะช่องเปิดให้ลมเข้าด้านล่างกล่องขนาด 0.15 เมตร และต่อปล่องแสงอาทิตย์ที่ด้านบนกล่องขนาด กว้าง 0.2 เมตร ยาว 2 เมตร สูง 1.9 เมตร ส่วนในปล่องแสงอาทิตย์จะใช้วัสดุกระจกและแผ่นอลูมิเนียมพ่นสีดำทำให้เกิดการกักเก็บความร้อนไว้ในปล่องมากที่สุดเพื่อทำให้เกิดแรงผลักดันและดึงอากาศในกล่องทดลองมาแทนที่ จึงต้องควบคุมปัจจัยทางด้านสภาพอากาศโดยรอบกล่องทดลองด้วย จากนั้นนำผลที่ได้มาเปรียบเทียบกับแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่สามารถใช้ทำนายอัตราความเร็วลมจากความร้อนที่ต่างกันได้ ผลจากการศึกษาพบว่า อัตราการระบายอากาศแปรผันตรงกับระดับระดับความเข้มรังสีอาทิตย์ โดยอัตราการระบายอากาศที่เกิดในกล่องทดลองมีค่าต่ำสุด 0.03 m3/s ที่ความร้อน 300 วัตต์ต่อตารางเมตร และมีค่าสูงสุด 0.11 m3/s ที่ความร้อน 800 วัตต์ต่อตารางเมตร และการเพิ่มความร้อน 100 วัตต์ต่อตารางเมตร จะทำให้อัตราการระบายอากาศสูงขึ้น 0.01 m3/s ผลที่ได้จากการทดลองนี้ สามารถนำไปเสนอเป็นแนวทางการออกแบบปล่องแสงอาทิตย์ที่ใช้กับตึกแถวในประเทศไทยได้ และจากการประเมินศักยภาพการใช้ปล่องแสงอาทิตย์ในตึกแถว ประเทศไทยนั้น สามารถใช้ได้ดีในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน เพราะจะทำให้อุณหภูมิที่หน้าผิวหนังอยู่ในสภาวะน่าสบายพอดี ส่วนช่วงเดือนอื่นๆ การใช้ปล่องแสงอาทิตย์จะทำให้อุณหภูมิที่ผิวหนังต่ำกว่าปกติ แต่สามารถนำมาใช้ระบายอากาศเพื่อให้เกิดคุณภาพอากาศที่ดีในอาคารได้ตลอดปี
    คำสำคัญ :ศักยภาพการระบายอากาศ, ปล่องแสงอาทิตย์, อัตราความเร็วลม, ความร้อนแสงอาทิตย์

Volume : 6    Issue : 2010    Year : 1

in: วารสารวิจัยพลังงาน
total views : 71,457 views